English Click Here
หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นสมาชิกของชมรมขี่ม้า ในช่วงต้นยุค 80 ที่กองพันธ์สัตว์ต่าง ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอแม่ริม ขณะนั้นท่านมีพระชันษา 60 ปี แต่ฉันยังอายุไม่ถึง 10 ขวบ เป็นเด็กที่ค่อนข้างเกเรนิดหน่อย แต่ชอบขี่ม้า ตลอดเวลา 7 – 8 ปี ที่ขี่ม้าด้วยกัน ทุกวันเสาร์อาทิตย์ฉันจะตื่นไปขี่ม้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น พร้อมกลุ่มสมาชิกของชมรมขี่ม้าประมาณ 5 – 20 คน และหากหม่อมเจ้าภีศเดชอยู่ที่เชียงใหม่ ท่านก็จะเสด็จมาด้วยและเราจะขี่ม้าขึ้นไปบนดอยสุเทพหรือดอยปุยด้วยกัน บางครั้งก็จะหยุดพักปิกนิกตามน้ำตกต่าง ๆ เช่น น้ำตกตาดหมอก บางทีก็ขี่กระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง และหลงทางบ่อย ๆ บางครั้งหลงเป็นชั่วโมง เพราะเป็นพื้นที่ป่า และไม่มีทางเดิน อีกทั้งในช่วงเวลานั้นฉันยังเป็นเด็กเพียงคนเดียวในชมรมอีกด้วย จึงมักจะร้องไห้บ่อย ๆ เพราะชอบหลงทาง
หลังจากหาทางกลับได้แล้ว เรามักจะเหนื่อยจนเหงื่อไหลไคลย้อยกัน แต่ก็ยิ้มแย้มมีความสุขกันทุกคน บางทีเราจะแห่กันไปที่ห้วยตึงเฒ่า ซึ่งตอนนั้นมีแค่แพอยู่แค่หลังเดียวซึ่งเป็นของชมรมพวกเรา และที่ห้วยตึงเฒ่ายังไม่มีแม้แต่นักท่องเที่ยวเลย พวกเราไปนั่งพักผ่อน นอนอาบแดด พวกผู้ใหญ่ก็จะนั่งดื่มเบียร์ ฟังเพลง จีบกัน ฉันมักจะขอให้หม่อมเจ้าภีศเดชสอนเล่นวินเซิร์ฟ เพราะท่านทรงเล่นวินเซิร์ฟ และยังเคยเล่นเรือใบกับในหลวงหลายปีแล้ว นั่นเป็นวันเวลาที่ฉันหวนคิดถึงเสมอ
แต่ถึงแม้ฉันจะเป็นเด็กที่มีโลกส่วนตัวสูง แต่ก็รู้อยู่นิด ๆ ว่าโลกภายนอกมันโหดร้าย เพราะว่าม้าที่เราขี่ในตอนนั้นหลายตัวมีทั้งรอยบาดแผล และ กระสุนปืน เพราะเป็นม้าที่ทหารยึดมาได้จากกระบวนการค้ายาเสพติด ฉันจึงคิดว่าถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองที่มีความเจริญในสมัยนั้น แต่จริง ๆ แล้วภูเขาที่ล้อมรอบเมืองของเรานั้นมีอันตรายแฝงอยู่มาก มีกระบวนการค้ายาเสพติดและเกิดการต่อสู้กันกระจายทั่วพื้นที่ภาคเหนือ
หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นนักกีฬาที่เยี่ยมยอดมาก อีกทั้งมีอัธยาศัยดี โปรดความสนุก เฮฮา สังสรรค์ เป็นผู้ที่มีชีวิตชีวา ณ เวลาที่ฉันได้รู้จักท่าน ท่านก็เป็นผู้อำนวยการของโครงการหลวงมากว่า 20 ปีแล้ว จนกระทั่งขณะนี้ท่านมีพระชันษา 96 ปี แต่ก็ยังทรงงานเพื่อโครงการหลวงอยู่เหมือนเดิม
เร็ว ๆ นี้ฉันได้เข้าไปยังสำนักงานของท่าน ทุกอย่างดูเรียบง่าย ไม่มีอะไรเลย มีแค่โต๊ะทำงาน เก้าอี้ และตู้เก็บเอกสาร ประตูที่เปิดตลอดเวลาเพื่อให้พนักงาน และคนที่มาติดต่องานเดินเข้าเดินออก และมีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง ร. 9 อยู่ในกรอบง่าย ๆ เพียงหนึ่งรูป เป็นรูปในขณะที่หม่อมเจ้าภีศเดชได้ถวายงาน หากใครรู้จักหม่อมเจ้าภีศเดช จะรู้ว่าท่านโปรดที่จะทำหน้านิ่ง ๆ บางทีก็ดูน่ากลัว ในขณะนั้นท่านกำลังก้มหน้าเซ็นเอกสาร ท่านหันมามองหน้าฉันแล้ว ทำพระพักตร์ดุ ๆ แล้วก็พูดกับฉันว่า
“ภิมทร์ สงสัยผมจะต้องพาคุณไปออกกำลังกายแล้ว”
หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงจบการศึกษาจากวิทยาลัยดัลลิช ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนในประเทศอังกฤษ และได้ทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในขณะนั้นท่านโปรดกีฬาเรือพาย และหลังจากจบการศึกษา ท่านทรงเข้าร่วมกับกองทัพอังกฤษในฐานะทหาร ในปี พ.ศ. 2486 และทรงรับการฝึกอย่างหนักหน่วงบนเทือกเขาหิมาลัย และถูกเรียกกลับไปยังอังกฤษเพื่อรับหน้าที่เป็นสายลับ เรียกได้ว่าเป็นสายลับอังกฤษอย่างเต็มตัว ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ทำงานร่วมกับกลุ่มเสรีไทย ซึ่งเป็นกลุ่มใต้ดินในประเทศไทยที่ทำงานต่อต้านพวกญี่ปุ่นที่เข้ามาในเมืองไทย และหลังจากสงครามสิ้นสุดลง หม่อมเจ้าภีศเดชได้เสด็จกลับมายังเมืองไทยและได้เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและหม่อมเจ้าภีศเดชมีความสนใจในกีฬาเรือใบเช่นเดียวกัน หม่อมเจ้าภีศเดชจึงได้กลายเป็นพระสหายสนิท ได้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในการสร้างเรือใบเป็นเวลาหลายปี หม่อมเจ้าภีศเดชทรงเล่าว่า ได้ติดตามในหลวงไปแทบจะทุกที่ เมื่อครั้งที่มีการสร้างพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ท่านก็ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินมายังเชียงใหม่ วันหนึ่งในปี พ.ศ. 2511 ในหลวงมีพระราชดำริให้ริเริ่มโครงการหลวง ได้รับสั่งกับหม่อมเจ้าภีศเดชว่า มีพระราชประสงค์ให้หม่อมเจ้าภีศเดชเป็นผู้ดูแลโครงการหลวง ในเวลานั้นหม่อมเจ้าภีศเดชได้แต่นิ่งอึ้ง เพราะไม่มีความรู้ในเรื่องการเกษตรเลย จึงไม่รู้จะเริ่มต้นโครงการหลวงได้อย่างไร
ในช่วงปี พ.ศ. 2511 – 2512 ป่าไม้กว่า 20% ได้หายไปจากพื้นที่ประเทศไทย เพราะการเกษตรและการขยายตัวของประชากร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปริวิตกอย่างมากว่าในอนาคตภาคกลางจะไม่มีน้ำใช้ หากคนในภาคเหนือยังตัดไม้ และ ย้ายพื้นที่ทำการเกษตร ก็จะทำให้ภูเขาโล้นเกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ และชาวเขากว่า 250,000 คน ในตอนนั้นมีฐานะยากจน ในช่วงนั้นในประเทศไทยเป็นผู้ผลิตฝิ่นกว่า 200 ตันต่อปี ซึ่งสามารถตอบสนองต่อธุรกิจยาเสพติดในสหรัฐอเมริกาได้อย่างน้อยสามปี นับเป็น 8% ของการใช้ฝิ่นทั้งโลก การก่อตั้งโครงการหลวง ทำให้ทุกวันนี้อัตราการผลิตฝิ่นลดเหลือเพียง 0.04% แต่อย่างไรก็ตามในขณะนั้น “ขุนส่า” ผู้นำกระบวนการค้ายาเสพติดได้ใช้หมู่บ้านชาวเขาทั้งหลายเป็นแหล่งผลิตฝิ่น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงห่วงใยในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก น้อยคนนักจะทราบว่าทั้งสองพระองค์ทรงงานมากกว่า 8 เดือน นอกพระราชวังในกรุงเทพ และทรงใช้พระตำหนักต่าง ๆ เป็นจุดหลักที่จะเข้าถึงหมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ก็เป็นสถานที่ประทับอีกแห่งหนึ่งที่ทรงเลือกที่จะใช้เป็นสถานที่ทรงงาน ข้อมูลในหนังสือ The Peach and the Poppy ซึ่งพิมพ์โดยโครงการหลวงกล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์เพึ่งสร้างแล้วเสร็จ ในหลวงทรงทราบข่าวว่ามีหมู่บ้านม้งปลูกฝิ่นอยู่ไม่ไกลจากพระตำหนักมากนักและสามารถเดินเท้าเข้าไปได้ จึงตัดสินพระราชหฤทัยรวบรวมคนไม่กี่คนในตอนนั้น เสด็จพระราชดำเนินด้วยการเดินเท้าเข้าไปยังหมู่บ้านม้งดังกล่าวทันที เพราะก่อนหน้านั้นได้ทอดพระเนตรเห็นไร่ฝิ่นจากเฮลิคอปเตอร์ แต่ว่าพระองค์ท่านไม่เคยทรงเสด็จไปก่อน เพราะคนรอบตัวพระองค์ทรงเป็นห่วงถึงความอันตราย
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปถึงหมู่บ้าน ชาวม้งยังไม่ทราบว่าพระองค์คือผู้ใด ในหลวงได้ประทับนั่งคุยกับชาวม้งเป็นเวลานานนับชั่วโมงถึงฐานะความเป็นอยู่ และการทำงานของพวกเขา รวมไปถึงการเกษตร การทำมาหากิน ได้ความว่าเวลานั้นชาวม้งได้มีการปลูกลูกท้อที่คุณภาพไม่ดีนักและนำไปดองจำหน่ายในเมืองเชียงใหม่ แต่ก็สร้างรายได้ให้ไม่มากนัก และการค้าฝิ่นก็ไม่ได้สร้างรายได้ให้มากนักเช่นเดียวกันเพราะต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่ก็ยังได้กำไรมากกว่าปลูกท้อนิดหน่อย ก่อนหน้าที่พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินมายังหมู่บ้านแห่งนั้น ในหลวงทอดพระเนตรเห็นนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาทำการตัดแต่งลูกท้อบริเวณใกล้พระตำหนัก จึงมีพระราชดำริที่จะพัฒนาคุณภาพท้อที่มีคุณภาพมากขึ้นเพื่อหารายได้เพิ่มทดแทนการปลูกฝิ่นของชาวเขา เรียกได้ว่าเป็นแนวคิดที่เป็นจุดกำเนิดของโครงการหลวงนับตั้งแต่นั้นมา
หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนีได้ทรงริเริ่มและรวบรวมผู้เชี่ยวชาญทุกแขนงเกี่ยวกับการเกษตร จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาร่วมกันดำเนินโครงการนี้ ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีสายพระเนตรยาวไกล พระราชประสงค์อันดับแรกของพระองค์ท่านคือให้ชาวเขามีพันธุ์พืชปลูกทดแทนฝิ่น และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเขาทั้งหมดในภาคเหนือ รวมไปถึงหยุดการทำการเกษตรที่ทำลายผืนป่า ดังที่หนังสือ The Peach and the Poppy ได้กล่าวว่า ในหลวงรับสั่งไว้ว่า “การที่จะทดแทนฝิ่นอย่าคิดว่าจะสำเร็จเพียงข้ามคืน อย่างน้อย ๆ ต้องใช้เวลาถึง 30 ปี”
หม่อมเจ้าภีศเดชทรงเล่าต่ออีกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อดำเนินการในโครงการหลวงทั้งหมดจนถึงปี พ.ศ. 2536 ซึ่งใน 8 ปีแรกนั้น เป็นการค้นคว้าและวิจัยเสียส่วนใหญ่ จนสามารถก่อตั้งอย่างเป็นทางการได้ในปี พ.ศ. 2512
ในขณะที่ในหลวงประทับอยู่ ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ พระองค์ท่านจะทรงเฮลิคอปเตอร์ทุก 2 วันเพื่อตรวจพื้นที่ป่าโดยรอบ หม่อมเจ้าภีศเดชตรัสกับฉันว่า “ผมต้องแบกกระเป๋าเป้ที่มีเสื้อผ้า ขนมปังกรอบ สแปมหนึ่งกระป๋องและชีส เพราะไม่รู้ว่าในหลวงจะทรงเปลี่ยนพระทัยว่าจะบรรทมที่ไหนบ้าง และการเดินทางนั้นบางครั้งก็ลำบากนัก ต้องเดินฝ่าป่ารก นอนกับพื้น จะพกอาวุธเข้าไปด้วยไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะชาวบ้านจะระแวงมาก เลยต้องเข้าไปมือเปล่าซึ่งอันตรายเป็นอย่างมาก แต่จะบ่นได้อย่างไร เมื่อผมไปที่ไหน ในหลวงท่านก็ไปด้วย”
ครั้งหนึ่งเข้าไปยังหมู่บ้านชาวเขา หัวหน้าเผ่าได้ถวายการต้อนรับด้วยสุราพื้นบ้านและเชิญให้ในหลวงเสวย หม่อมเจ้าภีศเดชเห็นว่าแก้วดูไม่สะอาดเลยอาสาดื่มแทน แต่ในหลวงก็หันมาพูดกับหม่อมเจ้าภีศเดชว่าเหล้ามันแรง คงไม่มีเชื้อโรคเหลือรอด และเสวยสุราแก้วนั้น หม่อมเจ้าภีศเดชตรัสอย่างภาคภูมิใจว่าในหลวงเป็นในหลวงของประชาชนจริง ๆ ทรงลำบาก เพื่อประสงค์เดียวคือช่วยเหลือประชาชน
หม่อมเจ้าภีศเดชตรัสว่า แม้พวกเราจะเกรงกลัวว่าท่านจะเป็นอันตรายเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชาวเขา แต่เมื่อได้พบกับใบหน้ายิ้มแย้มที่ต้อนรับคณะของพระองค์ ชาวบ้านบางคนก็รู้สึกตื้นตันและดีใจจนถึงขั้นทูลถวายทรัพย์สินส่วนตัว เพราะไม่เคยคิดว่าพระองค์จะมาเยี่ยมเยียนราษฎรถึงที่นี่ และการเข้าไปยังหมู่บ้านของพวกเขานั้นไม่ได้เข้าไปเพียงเฉย ๆ แต่ยังไปพร้อมกับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บรวมไปถึงความรู้ที่จะสามารถพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านให้ดีขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การปลูกต้นไม้แต่โครงการหลวงยังเป็นอะไรมากกว่านั้น
หนังสือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและโครงการหลวง ได้กล่าวถึงบุคลิกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทำให้ชนะการเล่นกีฬาเรือใบ ซึ่งเป็นบุคลิกเดียวกันที่ทำให้โครงการหลวงสำเร็จลุล่วงไปได้เร็วและดีกว่าธรรมดา ได้แก่
1. ทรงขยัน เอาจริงเอาจัง
2. ทรงอึด เล่นเรือเวลาลมแรง ๆ ต้องเอนตัวออกไปให้ขนานกับพื้นที่น้ำนั้นจะเมื่อยและเจ็บขามาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงถ่วงต่อไปได้เต็มที่ ในเมื่อคนอื่น ๆ ไม่ไหวแล้ว
3. ทรงจำเก่ง
4. พระอารมณ์ขัน
5. ช่างสังเกต เช่นว่าที่ไหนกระแสน้ำเป็นอย่างไร แล้วเอาเรื่องที่ทรงทราบมาใช้ให้แล่นเรือเร็วกว่าลำอื่น
6. ทรงเป็นนักกีฬา และโปรดที่จะเป็นครูไทย สอนให้คนอื่นเล่นเรือเก่งขึ้น
7. พระทัยดี ทรงพยายามจะช่วยผู้ยากลำบากเสมอ
8. ความคิดเห็นกว้าง คือทรงทราบเรื่องราวหลากเรื่อง ทรงพินิจพิจารณาอะไรๆ จากหลายแง่หลายมุม
หม่อมเจ้าภีศเดชตรัสอีกว่าการจะทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกพืชทดแทนฝิ่นนั้นยากมาก แต่ในหลวงไม่ทรงเร่งรัดเพื่อให้ประสบความสำเร็จโดยเร็ว และจะไม่ทรงบังคับให้ใครทำ แต่จะให้พวกเขาทดลองด้วยตัวเอง และพระองค์ยังรับสั่งแก่ชาวบ้านว่าอย่าเพิ่งทิ้งฝิ่นจนกว่าผลผลิตในรอบนั้นจะทำเงินให้พวกเขา และชาวบ้านคนแรกที่หมู่บ้านชาวเขาที่ดอยอินทนนท์สามารถทำกำไรจากการปลูกสตรอเบอร์รี่ได้ถึงสองแสนบาท และผลผลิตเหล่านี้เองที่เติบโตเป็นโครงการหลวง ที่ในปัจจุบันมีการทำการเกษตรอย่างหลากหลาย ทั้งพืชพันธุ์ ผัก และ ผลไม้ ต่าง ๆ รวมไปถึงไม้ดอกนานาชนิด ความสำเร็จเหล่านี้ได้ชักจูงให้ชาวเขาหันมาสนใจ ณ ตอนนี้โครงการหลวงได้สนับสนุนการเกษตรแก่ชาวเขาถึง 100,000 คน ไร่ฝิ่นที่ในหลวงตัดสินพระราชหฤทัยให้ซื้อไว้ วันนี้ได้กลายเป็นสถานีเกษตรหลวงอ่างขางซึ่งเป็นสำนักงานหลักของโครงการหลวง ปัจจุบันได้ก่อตั้งและกระจายไปทั่วภาคเหนือกว่า 38 แห่ง และยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการโครงการใหม่ที่จังหวัดตาก
กล่าวได้ว่าโครงการหลวงประสบความสำเร็จในทุกดรรชีชี้วัด และได้รับการยอมรับจากนานาชาติ จนหลายประเทศสนใจที่จะนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้กับประเทศตนเอง แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ยากเพราะโครงการหลวงเป็นโครงการที่ค่อนข้างจะเฉพาะเจาะจงกับสภาพความเป็นอยู่ของประเทศไทย และสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จ คือ พระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถและมีสายพระเนตรอันยาวไกล ที่จะเห็นว่าโครงการหลวงมิได้เป็นแค่การปลูกผัก แต่เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเขาอย่างครบวงจร ทั้งสาธารณสุข การศึกษา และสุขอนามัย ซึ่งทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้โครงการหลวงประสบความสำเร็จจนทุกวันนี้
ทุกวันนี้รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้แก่โครงการหลวงปีละ 400 ล้านบาท และถึงแม้ว่าโครงการหลวงสามารถสร้างรายได้ถึงปีละ 1,300 ล้านบาท แต่หลังจากหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วก็จะเหลือกำไรเพียง 11 – 20 ล้านบาท ถึงจะดูว่าได้กำไรไม่มากนักแต่รายได้ส่วนใหญ่ก็ได้กระจายสู่ชาวเขาทั่วภาคเหนือ ระยะเวลาที่โครงการหลวงได้ก่อตั้งขึ้นนั้นอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นจาก 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2513 เป็น 136 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี พ.ศ. 2545 ทำให้ผู้คนมีกำลังซื้อ และได้ให้ความสนใจต่อผลิตภัณฑ์ของโครงการหลวงได้เป็นอย่างดี
หม่อมเจ้าภีศเดชยังได้ตรัสอีกว่า “ผมไม่ได้กินเงินเดือนแม้แต่บาทเดียวจากโครงการหลวง และมีอาสาสมัครทั้งหมด 173 คน ที่ทำงานเพื่อโครงการหลวง บางคนทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ก็เลือกที่จะไม่รับเงินเดือนจากโครงการหลวงแม้แต่บาทเดียว” แม้ว่าปัจจุบันหม่อมเจ้าภีศเดชจะมีพระชันษามากแล้ว แต่ฉันรู้สึกว่าหัวใจของท่านนั้นยังหนุ่มแน่น และแม้ว่าครอบครัวของท่านจะอยู่ที่กรุงเทพ แต่ท่านก็ยังเสด็จมาที่เชียงใหม่อาทิตย์ละ 3 – 4 วัน เพื่อทำงานกับอาสาสมัครของโครงการหลวง เมื่อก่อนท่านจะเป็นขาประจำที่เสด็จไปเสวยอาหาร และดื่มไวน์ตามร้านอาหารชื่อดังอันดับต้น ๆ ในเชียงใหม่ แต่ตอนนี้ท่านโปรดที่จะใช้เวลาส่วนตัวกับสวนกุหลาบและอ่านหนังสือ หลังจากพูดคุยกันเสร็จ ท่านก็หันมาตรัสกับฉันเหมือนทุกครั้งที่ได้พบเจอกันตามที่ต่าง ๆ ว่าฉันเป็นเด็กขี้แย และมักจะสั่งให้ฉันไปออกกำลังกายเสมอ ฉันจะยิ้มอย่างอาย ๆ ทุกครั้ง และแอบถามแบบเชิงกระเซ้าเย้าแหย่กลับไปว่า “แล้วทำไมท่านภีไม่ปลดเกษียณสักทีล่ะคะ” หม่อมเจ้าภีศเดชก็ตรัสว่า “ก็ในหลวงยังไม่ได้สั่งให้ผมปลด ผมจะปลดได้ยังไงล่ะ ผมก็คงต้องทำงานต่อไป”
และฉันก็เชื่อว่าท่านคงทำงานต่อไปอีกนานอย่างแน่นอน