Royal Cuisine: “เมี่ยง”อาหารว่างชาวล้านนา ในพระตำหนักเจ้าดารารัศมี พระราชชายา

 |  October 16, 2017

เขียน: พิชามญชุ์ ชัยดรุณ
ภาพอาหาร: love Dad Studio’29

Read this article in English

“เมี่ยง”อาหารว่างชาวล้านนา
ในพระตำหนักเจ้าดารารัศมี พระราชชายา

หนึ่งในอาหารการกินของชาวล้านนาในอดีต “เมี่ยง”ถือว่าเป็นอาหารว่างที่ทุกบ้านจะต้องมีไว้รับประทานและรับรองแขกที่มาเยี่ยมบ้าน ชาวล้านนาแต่โบร่ำโบราณนั้นมักจะ “อมเมี่ยง” กันเป็นเรื่องปกติเวลาพักผ่อนพูดคุยกันหรือเวลาที่ออกไปทำไร่ทำนา
วัตถุดิบที่ใช้ในการทำเมี่ยงที่สำคัญที่สุดคือใบเมี่ยง หรือใบชา ซึ่งปลูกกันมากในภาคเหนือมาแต่ครั้งอดีต เมี่ยงจึงเป็นอาหารที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น สร้างสรรค์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นล้านนาก็ว่าได้
และครั้งหนึ่งในอดีต “เมี่ยง”ก็ได้ทำหน้าที่สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ในท่ามกลางประเพณี วัฒนธรรม และพื้นที่ที่ห่างไกลจากท้องถิ่นล้านนาขึ้นไป สู่ในพระตำหนัก ในพระบรมมหาราชวัง ผ่านเจ้านายฝ่ายเหนือผู้ซึ่งรับราชการฝ่ายในอยู่ในบางกอกในฐานะพระราชชายา


เจ้าดารารัศมี พระราชชายา มีพระนามเดิมว่า เจ้าดารารัศมี เป็นพระราชธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ฯ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๗ เจ้าดารารัศมีได้ถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายใน เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ใน พ.ศ. ๒๔๒๙ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระตำหนักขนาดใหญ่ ๓ ชั้น ให้เป็นที่ประทับของเจ้าดารารัศมี
เมื่อร้อยกว่าปีก่อน กรุงเทพฯกับเชียงใหม่ ถือว่าไกลกันมากทั้งในเรื่องระยะทาง วัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ เมื่อเจ้าหญิงจากล้านนาที่ต้องเสด็จฯไปประทับในพระบรมมหาราชวังในพระนคร จึงต้องทรงเผชิญกับความแตกต่างทั้งหลายทั้งมวล เช่นคำเรียกขานว่า “เจ้าหญิงเมืองลาว” แต่สิ่งที่ทรงปฏิบัติคือ “เป็นพระองค์เอง” โดยระหว่างที่ประทับอยู่ที่พระตำหนักแห่งนี้ โปรดให้เจ้านายฝ่ายเหนือมาประทับอยู่ด้วย ได้ปฏิบัติพระองค์เหมือนประทับอยู่ในคุ้มหลวงเชียงใหม่ ทรงนำขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมล้านนามาปฏิบัติทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายนุ่งผ้าซิ่น ห่มสไบเฉียง เกล้าผมมวยตามแบบล้านนา โปรดให้พูด “คำเมือง” รับประทานอาหารพื้นเมือง และอมเมี่ยงซึ่งชาววังในเวลานั้นเห็นเป็นของแปลกมาก
เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ได้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทด้วยความจงรักภักดี กระทั่งต่อมาได้มีพระประสูติกาลพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี หรือ “เสด็จเจ้าน้อย” ได้ทรงปลูกฝังความเป็นล้านนาด้วยการให้พระธิดาฉลองพระองค์ซิ่นแบบเจ้านายเมืองเหนือตลอดเวลา แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า “เสด็จเจ้าน้อย” ได้ประชวรและสิ้นพระชนม์ด้วยพระชันษา ๓ ปี ๔ เดือน เป็นความโทมนัสอันสุดแสนจะบรรยายของเจ้าดารารัศมี พระราชชายา แต่ถึงกระนั้นก็ตามก็ได้ทรงมีขัตติยมานะในการถวายการรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทด้วยความจงรักภักดีในราชสำนักสยามต่อไป
หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงกล่าวถึงเจ้าดารารัศมี พระราชชายาไว้ว่า
“ข้าพเจ้ารู้สึกทึ่งและประทับใจยิ่งนัก เวลาเห็นพระองค์ท่านประทับอยู่ในที่ว่าราชการ ท่ามกลางข้าราชการฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ จากที่เคยเห็นท่านดำรงพระองค์เรียบง่ายสงบคำเวลาประทับอยู่ในวังหลวง แต่ในที่นั่น พระองค์ท่านมีรับสั่งว่าราชการอย่างฉะฉาน เวลาตรัสกับข้าราชการฝ่ายเหนือก็ตรัสเป็นภาษาเหนือ เวลาตรัสกับข้าราชการฝ่ายใต้ก็ตรัสเป็นภาษาใต้ รับสั่งกลับไปกลับมาอย่างคล่องแคล่วยิ่งนัก เห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของข้าราชการทุกหมู่เหล่าอย่างยิ่ง”
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าในพระบรมมหาราชวังมีความอึดอัดคับแคบ จึงได้โปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชวังดุสิตและสร้างตำหนักที่ประทับพระราชทานแก่เจ้าจอมและพระราชวงศ์หลายพระองค์ และได้มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักพระราชทานแก่พระราชชายาฯ ด้วยหลังหนึ่งชื่อว่า “สวนฝรั่งกังไส” เป็นอาคารโบกอิฐถือปูน หลังคาทรงปั้นหยา
และที่พระตำหนักแห่งนี้ ก็ยังทรงดำรงวิถีปฏิบัติพระองค์แบบล้านนาอยู่เช่นเดิม กระทั่งความเปลี่ยนแปลงมาถึง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ซึ่งขณะนั้นพระราชชายาได้ถวายการรับใช้เบื้องพระยุคลบาท เป็นเวลา ๒๓ ปีเศษ หลังจากนั้น เจ้าดารารัศมี พระราชชายาได้ประทับในพระราชวังดุสิตจนกระทั่ง พ.ศ. 2457 จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กราบถวายบังคมลา เสด็จนิวัติเชียงใหม่เป็นการถาวร และเมื่อเสด็จถึงเชียงใหม่ได้เสด็จไปประทับที่คุ้มเจดีย์กิ่วใกล้แม่น้ำปิง ซึ่งต่อมาเป็นสถานกงสุลอเมริกันประจำจังหวัดเชียงใหม่
พระตำหนักอีกแห่งหนึ่งที่เจ้าดารารัศมี พระราชชายาทรงโปรดและทรงใช้เวลาประทับมากกว่าตำหนักแห่งอื่นๆ คือ “ตำหนักดาราภิรมย์” อาคารทรงยุโรปที่โปรดให้เรียกว่า “สวนเจ้าสบาย” ตั้งอยู่ในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันพระตำหนักแห่งนี้ได้รับการบูรณะอย่างสวยงาม และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นหลังได้เข้าชม
เจ้าดารารัศมี พระราชชายา สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ด้วยพระชันษา ๖๐ ปี แต่เรื่องราวของพระองค์คือแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นหลังมากมาย โดยเฉพาะผู้ที่สนใจศิลปวัฒนธรรมล้านนา ได้ศึกษา สืบสาน ต่อยอด จากเรื่องราวเล็กๆ เช่น “เมี่ยง”ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาหารว่างในพระตำหนักของเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ขัตติยนารีแห่งล้านนาที่ทรงหาญกล้าที่จะ “เป็นพระองค์เอง”ในท่ามกลางความแตกต่างทั้งมวล

————————————————————————– 

“กว่าจะมาเป็นเมี่ยงในหนึ่งคำ ชาวบ้านจะเดินเข้าป่าเสาะหาใบเมี่ยง นำมานึ่งและหมักกับน้ำเป็นเวลาข้ามคืนและเก็บในโอ่งที่ปราศจากอากาศ เมื่อถึงเวลานำไปขาย จึงจะนำใบเมี่ยงออกมาทำเป็นชิ้นพอดีคำ และนิยมทำสองรสชาติ คือ รสชาติธรรมดาใส่เพียงแค่เกลือ และรสชาติหวานที่มีส่วนผสมของมะพร้าว น้ำตาล และถั่วลิสง

คนสมัยก่อนกินเมี่ยงกันอย่างกว้างขวาง ส่วนในปัจจุบันเมี่ยงคำก็ยังคงเป็นที่นิยมกันเช่น โดยเฉพาะเมื่อมีงานบุญงานวัด ลูกหลานจะเสาะหาเมี่ยงคำไปทำบุญเพื่ออุทิศให้กับเครือญาติที่ล่วงลับไปแล้ว และสำหรับชาวอำเภอดอยสะเก็ด เมี่ยงถือว่าเป็นของดีของเชียงใหม่ที่คนต่างถิ่นจะนิยมมาซื้อไปขายต่อมาเนิ่นนาน” ป้าสมศรี สารีอินทร์ ผู้ผลิตเมี่ยงในอำเภอดอยสะเก็ด และขายที่ตลาดผดุงดอยแดน ร้านพ่อหนานโต (ติดต่อ 086 757 7339)