For English, Click Here
คูเมืองของเราตอนนี้ดูสวยงาม ล้อมรอบไปด้วยต้นไม้ที่แผ่กิ่งก้านสาขาในทุกช่วงฤดูร้อน เจ้าหน้าที่ตกแต่งสวนต่างปฏิบัติหน้าที่จัดแต่งและแต่งเติมแปลงดอกไม้รอบๆ คูเมือง เขตเมืองเก่ากำลังจะถูกบูรณะให้กลับมาดูดีขึ้นในไม่ช้า สิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากการบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆ นั่นเอง ไม่ว่าจะการจัดระเบียบการควบคุมความสูง การออกแบบและแนวทางการใช้สีของอาคาร สิ่งเหล่านี้กำลังจะถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น และเงินภาษีของประชาชนกำลังถูกใช้ไปกับการพัฒนาเชียงใหม่ในหลายๆ ด้าน
แต่การปลูกต้นไม้ ตกแต่งเมืองด้วยดอกไม้ต่างๆ การมีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม และการทำความสะอาดเมืองจะมีประโยชน์อะไร ถ้าสิ่งเหล่านี้ถูกบดบังด้วยป้ายโฆษณามากมายที่พบเห็นแทบจะทุกมุมของเมือง ไม่ว่าจะภาพโฆษณาครีมบำรุงผิวขาวใส หรือป้ายโฆษณารถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่ผุดขึ้นเต็มสองข้างทางการจราจร สิ่งเหล่านั้นล้วนทำให้เราเกิดหนี้สินโดยไม่รู้ตัว จากที่เราเคยขับรถตามถนนซุปเปอร์ไฮเวย์พร้อมกับชื่นชมความงามของท้องฟ้าสีครามผ่านยอดดอยสุเทพ วันนี้เราจะเห็นแต่เพียงป้ายขนาดใหญ่เรียงรายรกลูกหูลูกตา
เมื่อพูดถึงการเพิ่มจำนวนของป้ายโฆษณาที่มากขึ้นจนไม่สามารถควบคุมได้ ซิตี้ไลฟ์จึงตัดสินใจนับจำนวนของป้ายโฆษณาตามถนนนิมมานเหมินทร์ ถนนช้างคลานยาวไปจนถึงไนท์บาร์ซาร์ รวมถึงสี่แยกสนามบิน การนับครั้งนี้ไม่รวมป้ายเล็กป้ายน้อยหรือโปสเตอร์ เราเน้นเฉพาะป้ายที่ผู้คนมองเห็นได้ถนัดตาเวลาเดินผ่านไปมา ซึ่งสามารถแจกแจงรายละเอียดย่อยได้ดังนี้
- ถนนนิมมานเหมินทร์จากแยกรินคำไปจนถึงสี่แยกร้าน Warm Up (0.9 กิโลเมตร) พบป้ายสาธารณะมีทั้งหมด 63 ป้าย ประกอบด้วย ป้ายโฆษณาบนทางเท้า 46 ป้าย และป้ายโฆษณากิจการต่างๆ ที่ตั้งอยู่หน้าซอยจำนวน 17 ป้าย ส่วนป้ายส่วนบุคคลมีทั้งหมด 581 ป้าย ประกอบด้วย ป้ายโฆษณาติดตั้งบนอาคาร 188 ป้าย (เป็นป้ายไฟ 56 ป้าย) ป้ายบนทางเท้า 196 ป้าย (รวมป้ายไฟ 2 ป้าย) ป้ายโฆษณากลางแจ้ง 10 ป้าย (รวมป้ายไฟดิจิตอล 2 ป้าย) และป้ายเตือนตรงข้ามกับซอยและอีก 9 จุดที่เป็นพื้นที่ก่อสร้าง รวมป้ายทั้งหมดในพื้นที่นี้มีจำนวน 649 ป้ายที่สามารถมองเห็นได้ง่ายตามทางเท้า
- ถนนช้างคลาน จากท่าแพ ผ่านไนท์บาร์ซาร์ไปแสงตะวัน (0.85 กิโลเมตร) พบป้ายของสาธารณะจำนวน 40 ป้าย ประกอบด้วย ป้ายไฟบนอาคาร 3 ป้าย และป้ายบนทางเท้า 37 ป้าย และพบป้ายโฆษณาส่วนบุคคลจำนวน 294 ป้าย ประกอบด้วย ป้ายตั้งบนอาคาร 195 ป้าย (ซึ่งเป็นป้ายไฟ 96 ป้าย) ป้ายบนทางเท้า 82 ป้าย ป้ายโฆษณากลางแจ้ง 31 ป้าย และป้ายโฆษณากลางแจ้งแบบดิจิตอล 2 ป้าย รวมทั้งหมด 334 ป้าย
- สี่แยกแอร์พอร์ตพลาซ่า พบป้ายของสาธารณะจำนวน 26 ป้าย และป้ายส่วนบุคคลจำนวน104 ป้าย ซึ่งเป็นป้ายบนอาคาร 27 ป้าย ป้ายบนทางเท้า 44 ป้าย ป้ายโฆษณากลางแจ้ง 31 ป้าย และป้ายไฟจำนวน 2 ป้าย รวมทั้งหมด 130 ป้าย
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกพื้นที่ในเมืองเชียงใหม่ที่จะเห็นมลภาวะทางสายตาเหล่านี้ แต่ตัวเลขที่เราพบถือเป็นสัญญาณเตือนที่น่ากลัวเลยทีเดียว
พรบ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองฉบับปรับปรุงปี พ.ศ. 2535 กล่าวว่า ป้ายที่ติดตั้งอย่างผิดกฎหมาย โดยไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าหน้าที่ ทั้งแขวน แปะ หรือปิดป้ายโฆษณาต่างๆ ที่บดบังอาคารหรือที่สาธารณะ เจ้าของป้ายจะถูกปรับและป้ายจะถูกรื้อถอนทันที
ความจริงแล้ว ปัญหาต่างๆ ไม่ได้เกิดจากอะไรเลย นอกจากตัวผู้มีอำนาจหรือผู้ถืออำนาจในมือเอง ถึงแม้ไม่ใช่ตัวต้นเหตุของปัญหา แต่ก็เป็นตัวเพิ่มปัญหาให้มีมากขึ้น
“เทศบาลคือเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดความระเกะระกะของป้ายในเมืองเรา” กล่าวโดยหนึ่งในเจ้าของกิจการป้ายที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ และมีผู้ให้สัมภาษณ์อีกหลายท่านที่ขอไม่เปิดเผยนาม “เห็นได้ว่าป้ายโฆษณาจำนวนมากผุดขึ้นมาในสมัยของนายกเทศมนตรีคนปัจจุบันมากที่สุดในประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่”
“การติดตั้งป้ายไม่ใช่เรื่องยาก มันก็เหมือนการขออนุญาตก่อสร้างอาคารทั่วไป ถ้าคุณต้องการติดตั้งป้ายโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาสินค้าของคุณในพื้นที่ของคุณเองหรือเช่าพื้นที่โฆษณาของบริษัทป้ายทั่วไป คุณแค่ทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมาย เช่น ควบคุมป้ายให้มีความสูงตามมาตรฐานความสูงของป้ายซึ่งเป็นไปตามกฎเกณฑ์เดียวกับมาตรฐานความสูงของอาคาร ตรวจสอบคำโฆษณาในป้ายให้ไม่ละเมิดกฎหมายที่มีอยู่ โดยเฉพาะการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ นอกจากนั้นป้ายจะต้องไม่กีดขวางพื้นที่สาธารณะ ส่วนป้ายขนาดใหญ่ที่ต้องก่อสร้างที่ตั้งป้ายจะต้องมีลายเซ็นของสถาปนิกในการยืนยันการก่อสร้าง ถ้าคุณทำทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด คุณก็ได้รับอนุญาตติดตั้งป้ายจากทางเทศบาล บริษัทป้ายจะจ่ายค่าภาษีป้ายที่มีจำนวนเพียงน้อยนิดให้คุณ จากนั้นคุณก็แค่นั่งรอเก็บค่าเช่าป้ายสบายๆ” เจ้าของกิจการป้ายรายใหญ่กล่าว
ภาษีป้ายที่กำหนดมี 3 อัตรา ถ้าป้ายโฆษณามีแต่ตัวอักษรไทยล้วน จะคิดภาษีในอัตรา 3 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตรต่อปี ส่วนป้ายที่มีทั้งอักษรไทยและอักษรต่างประเทศ คิดอัตราละ 20 บาท และป้ายที่ไม่มีอักษรไทยหรือมีอักษรไทยบางส่วนอยู่ต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ คิดภาษีอัตราละ 40 บาทในขนาดตารางเซนติเมตรเดียวกัน
“สิ่งที่ทำให้ผมเป็นห่วงคือการเพิ่มจำนวนของป้ายซึ่งไม่ใช่ป้ายส่วนบุคคลแต่เป็นป้ายสาธารณะของทางราชการ” เขาอธิบายเพิ่มเติม “และนี่คือสิ่งที่ควบคุมโดยเขตเทศบาลหรือบางกรณีควบคุมโดยกรมทางหลวง แต่ส่วนใหญ่จะถูกควบคุมโดยเทศบาล เท่าที่ผมรู้มามีเพียง 3 บริษัทเท่านั้นที่ได้รับสัมปทานจากการโฆษณาสาธารณะในเชียงใหม่และไม่มีบริษัทไหนที่ผมรู้จักเข้าไปเกี่ยวข้อง สมมุติว่าบริษัทจากกรุงเทพขึ้นมาที่นี่เพื่อมาขอสัมปทานจากเทศบาลเพื่อติดตั้งป้าย 100 ป้ายในเชียงใหม่ พวกเขาก็จะจ่ายค่าสัมปทานเพื่อที่เทศบาลจะได้ยินยอมให้พวกเขาติดตั้งป้ายตามระยะเวลาในสัญญาและจ่ายภาษีตามหลังจากนั้น ผมไม่รู้ว่าพวกเขามีเงื่อนไขหรือข้อตกลงอื่นๆ อีกหรือไม่ แต่คุณสามารถตรวจสอบบัญชีจากนายกเทศมนตรีได้”
ในสามเดือนที่ผ่านมาซิตี้ไลฟ์ส่งจดหมายไปสองฉบับ แฟ็กซ์อีกหนึ่งฉบับ โทรติดต่อไปอีกสามครั้งและได้นั่งคุยกับนายกเทศมนตรีอีกครั้งหนึ่งเพื่อที่จะขอตรวจสอบบัญชีรายรับจากป้ายต่างๆ แต่ก็ไม่ได้ข้อมูลใดๆ มากไปกว่าตัวเลขกลมๆ ระหว่าง 29 ถึง 30 ล้านบาทที่ได้จากการเก็บภาษีป้ายที่เลขาฯ ของนายกเทศมนตรีโทรมาบอกเรา สุดท้ายเราก็ไม่ได้ตัวเลขค่าธรรมเนียมสัมปทานรายปี เราถามเจาะจงเพื่อให้เขาชี้แจงรายละเอียดต่อ แต่เขากลับตอบกลับว่าไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดเรื่องทั้งหมดนี้ได้
“ผมจ่ายค่าภาษีให้ลูกค้าทั้งหมดของผมให้เทศบาลหลายแสนบาทต่อปี” เจ้าของกิจการป้ายพูดต่อ “ตอนนี้ผมได้เจรจากับเจ้าของสถานที่กว่า 30 ที่ที่ผมได้ทำสัญญาสำหรับลูกค้าของผม แต่ผมยังไม่เคยเจรจากับผู้ที่มีอำนาจที่รับผิดชอบพื้นที่สาธารณะ สมัยก่อนหลายๆ บริษัทในกรุงเทพมหานครจะบริจาคถังขยะ ที่พักป้ายรถเมล์ หรือป้อมตำรวจเป็นการตอบแทนสำหรับโลโก้บางๆ และโฆษณาเล็กๆ แต่ทุกวันนี้พวกเขาสามารถติดตั้งป้ายโฆษณาที่ไหนก็ได้ที่เขาต้องการ ในฐานะที่เป็นคนในท้องถิ่น ผมเข้าใจ เคารพ และรักเชียงใหม่ ดังนั้นผมรู้ว่าป้ายโฆษณาเหล่านี้ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเพราะคนเชียงใหม่ไม่ได้ชอบป้ายพวกนั้นอยู่แล้ว จริงๆ แล้วมันเคยมีกรณีคนเชียงใหม่ออกมาประท้วงต่อต้านป้ายเหล่านั้น เช่นกรณีป้ายโฆษณาชุดชั้นในชนิดหนึ่งที่มีภาพสาวเซ็กซี่ตั้งบดบังดอยสุเทพจนป้ายนั้นต้องถูกถอนไปและอีกอันล่าสุดคือป้ายดิจิตอลจอยักษ์ที่ถูกติดตั้งเมื่อไม่นานมานี้ที่ถนนท่าแพหน้าสำนักงานการท่องเที่ยวเทศบาลนครเชียงใหม่”
เขากล่าวถึงป้ายดิจิตอลขนาดใหญ่สองตัวที่ถูกติดตั้งอยู่หน้าสำนักงานการท่องเที่ยวเทศบาลนครเชียงใหม่ที่เป็นกระแสฮือฮาทั้งในสื่อต่างๆ รวมทั้งโซเชียลมีเดีย ซึ่งเรื่องนี้เทศบาลนครเชียงใหม่ได้ร่วมเซ็นสัญญากับบริษัทแม่ที่กรุงเทพเป็นระยะเวลา 3 ปี โดย 30% ของการแสดงภาพบนจอจะเป็นประกาศของสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่มีการพูดค่าสัมปทานที่เทศบาลจะได้จากการติดตั้งสองเครื่องนี้ แต่เราคาดว่าการเก็บภาษีป้ายดิจิตอลจะเหมือนๆ กับการเก็บภาษีของป้ายทั่วๆ ไป เพราะขณะนี้ยังไม่มีความแตกต่างของภาษีระหว่างป้ายดิจิตอลหรือป้ายไฟ
“ตอนนี้เราติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV กว่า 80 ตัวทั่วเชียงใหม่ การติดตั้งกล้องวงจรปิดจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าไม่มีใครรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้” กล่าวโดยทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีจังหวัดเชียงใหม่ “จากการวิจัย พบว่า 70% ของอาชญากรรมจะลดลงได้เพราะระบบการติดตั้งกล้องวงจรปิด การติดตั้งจอดิจิตอลขนาดใหญ่สองตัวนี้จะแสดงภาพจากกล้องวงจรปิดทั่วเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมันช่วยให้ประชาชนตระหนักถึงการมีกล้องวงจรปิด และมันจะช่วยป้องกันการเกิดอาชญากรรมในเชียงใหม่ นอกจากนั้นยังใช้เพื่อถ่ายทอดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่ว่าจะการถ่ายทอดสดประเพณีลอยกระทงหรือการประกาศห้ามเผาในช่วงหน้าร้อน จริงๆ แล้วเราตั้งใจจะตั้งมันไว้ทั้งที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์และที่ประตูท่าแพ แต่เราก็เลือกติดตั้งเพียงแค่จุดเดียว เพื่อให้เกิดความรกรุงรังในเมืองเราน้อยที่สุด เมื่อหมดสัญญาสัมปทานอีกสามปีเราก็ค่อยมาพิจารณากันอีกรอบ”
“มันเนียนมาก” เจ้าของกิจการป้ายรายใหญ่กล่าว “พวกบริษัทเหล่านี้เริ่มจากการติดตั้งป้ายถวายพระเกียรติหรือประชาสัมพันธ์ข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพราะจะไม่มีการเรียกร้องใดๆ เกิดขึ้นเมื่อมีการติดตั้งป้ายเหล่านี้ พอเราทุกคนเคยชินกับการเห็นป้ายเหล่านี้ในแต่ละที่ ป้ายโฆษณาใหม่ๆ จะถูกนำมาติดตั้งแทนที่อย่างแนบเนียน และป้ายเหล่านี้ก็ถูกใช้ในการขายเบียร์หรือรถกระบะ และมันก็เป็นเรื่องเศร้าอีกแล้วที่ตึกเก่าที่พึ่งจะถูกบูรณะอย่างสวยงามกลับถูกบดบังไปด้วยป้ายโฆษณาเหล่านี้” คุณปวรรธณ์ ตันตยานุสรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของ Niwat Architects แสดงความเห็นด้วยว่า “อาคารสวยๆ บางอาคารถูกปิดป้ายโฆษณา ผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะจ้างสถาปนิกเพื่ออะไร”
คุณปวรรธณ์เชื่อว่ารูปแบบการบริหาร การลงทุน รวมทั้งการตลาดของเชียงใหม่นั้นเป็นไปตามรูปแบบการบริหารของกรุงเทพทั้งนั้น “ป้ายโฆษณาอันแรกของเชียงใหม่ถูกติดตั้งสิบปีที่แล้วที่ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ แต่ตอนนี้เราเห็นมันได้ในทุกที่ เราขาดแรงจูงใจ ความรู้ ความเข้าใจของคนที่จะควบคุมและแก้ไขกับปัญหา และมันเป็นการทำเงินที่ง่ายสำหรับคนที่มีพื้นที่ที่เหมาะที่จะหาเงินจากการติดตั้งป้าย เชียงใหม่เรามีเอกลักษณ์ มีวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์ มีสถาปัตยกรรม และธรรมชาติที่สวยงาม เราควรจะมีกฎเกณฑ์ของเราเองที่แตกต่างจากกรุงเทพ ซึ่งเชียงใหม่ก็ได้มีการจัดการเรื่องนี้ไปบ้างแล้วในบริเวณรอบคูเมืองเก่า แต่เชียงใหม่เป็นมากกว่าแค่คูเมืองเก่า การควบคุมภาพลักษณ์และการเติบโตของเมืองควรจะมีอย่างทั่วถึง”
“ถ้าคุณอยากติดป้ายในกรรมสิทธ์ของคุณ ผมห้ามคุณไม่ได้หรอกถ้าคุณทำอย่างถูกกฎหมาย มันใช้เวลานานนะครับในการเปลี่ยนกฎหมาย ผมเปลี่ยนไปบ้างแล้วส่วนหนึ่งในบริเวณคูเมือง มีการควบคุมความสูงของตึก ฯลฯ และก็ยังทำอยู่ต่อไป ผมก็ยังต้องคิดในแง่ธุรกิจ เราก็อยากให้เชียงใหม่เจริญเติบโตและพัฒนา เพราะมันก็จะเป็นประโยชน์กับเราทุกคน” นายทัศนัยกล่าว
ถ้าพูดในแง่ของธุรกิจ เราลองมาพูดเรื่องตัวเลขกัน ณ ตอนนี้เรายังไม่มีผลสรุปที่แน่ชัดเลยในเรื่องผลกระทบทางด้านธุรกิจของป้าย แต่ในปี พ.ศ. 2549 ที่เมืองซาน เปาโล นายกเทศมนตรีที่ได้รับความนิยมอย่างมากของบราซิลตัดสินใจออกคำสั่งห้ามโฆษณาในที่สาธารณะ ซึ่งได้รับการคัดค้านอย่างรุนแรงจากภาคธุรกิจต่างๆ และป้ายโฆษณากว่า 15,000 ป้ายต่างถูกรื้อถอนภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือน จากนั้นห้าปีต่อมาภาพอาคารต่างๆ ในเมืองก็ดูสวยงามขึ้น ซึ่งเป็นที่พอใจของชาวเมืองกว่า 70% ที่ยอมรับว่าการออกคำสั่งห้ามนั้นได้ผล และมันก็ไม่มีผลการกระทบในด้านธุรกิจแต่อย่างใด ในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา ทั้งรัฐอลาสกา รัฐฮาวาย รัฐเมนและรัฐเวอร์มอนต์ต่างมีการสั่งห้ามติดตั้งป้ายโฆษณากันอย่างจริงจังทั่วทั้งรัฐ ซึ่งจริงๆ แล้วหลายๆ เมืองทั่วโลกที่ถึงแม้จะไม่มีข้อห้ามการติดป้ายโฆษณา แต่อย่างน้อยก็มีมาตรการควบคุมจำนวนและขนาดของป้ายอย่างเข้มงวด ในขณะเดียวกันหลังจากที่ออกมาตรการเหล่านั้น ยังไม่พบปัญหาใดๆ ตามมา ในทางกลับกันประชาชนต่างพึงพอใจกับเรื่องนี้และรายได้จากการท่องเที่ยวก็ยังเพิ่มขึ้นเช่นกัน
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้ประกาศมาตรการคล้ายๆ กัน แต่จะเน้นเรื่องการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์ ป้าย หรือสื่อโฆษณากลางแจ้งต่าง ๆ ในระหว่างปี พ.ศ. 2551 ถึง พ.ศ. 2552 มีป้ายกว่า 776,408 ป้ายถูกรื้อถอนในเขตมหานคร ซึ่งดูเหมือนว่าเมื่อใดที่ภาครัฐมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ปัญหานั้นย่อมมีทางออก
หากจะเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างนายกเทศมนตรีเชียงใหม่คนก่อนหน้ากับคนปัจจุบัน เราจึงโทรหา ดร.เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ นายกเทศมนตรีเชียงใหม่คนก่อน ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี พ.ศ .2550 – พ.ศ. 2552 ว่าเธอมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้างในช่วงเวลาที่เธอดำรงตำแหน่ง
“นักการเมืองแต่ละคนมีทัศนคติและการลำดับความสำคัญที่แตกต่างกัน” นักการเมืองหญิงกล่าว “บางทีนายกเทศมนตรีท่านนี้เขาคงคิดว่าการเก็บเงินจากการโฆษณานั้นสำคัญ แต่สำหรับเราหลายๆ คน เราไม่เห็นด้วย เราคิดว่าภาพลักษณ์ของเมืองสำคัญกว่า มันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ที่ต้องมีทิวทัศน์ที่น่าดึงดูด ให้พวกเรามีอาหารตา และดิฉันก็อยากจะขอให้ทางเจ้าหน้าที่รัฐฟังความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับเรื่องป้ายเหล่านี้ เพราะตอนที่ดิฉันดำรงตำแหน่ง ดิฉันไม่เคยเซ็นรับสัมปทานป้ายเลยสักป้ายเดียว ที่มีก็เป็นป้ายที่ตกทอดมา แต่พอสัญญาป้ายหมดไป ดิฉันก็ไม่เคยต่อสัญญาเหล่านั้นเลย เราไม่สามารถควบคุมเมืองทั้งเมืองได้ แต่อย่างน้อยๆ เราก็พยายามที่จะทำได้”
และแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ควรที่จะถูกมองเพียงแค่เงิน คุณพันธวัฒน์ กรรณกุลสุนทร นายกสมาคมนักดนตรี นักร้อง นักแสดง เชียงใหม่ CMSAA รู้สึกหดหู่มากหลังจากที่ได้เข้าเยี่ยมโรงเรียนสอนคนตาบอดเชียงใหม่และทราบว่ามีเด็กพิการทางสายตาจำนวนมากที่ได้รับอุบัติเหตุบ่อยครั้งขณะเดินบนทางเท้า
“หลังจากที่ผมเห็นความระเกะระกะของป้ายบนทางเท้าที่มันมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ผมคิดว่าผมต้องเริ่มทำอะไรสักอย่างแล้ว เพราะถ้าไม่ทำอะไรเลย ผมก็คือนักเลงดีๆ นี่เอง เพราะพวกเราทุกคนกำลังรังแกคนตาบอดและคนพิการจากความเพิกเฉยต่อเรื่องนี้ของพวกเรา ผมจึงได้ทำให้เรื่องนี้ให้เป็นเรื่องราวใหญ่โตต่อรัฐบาล ตำรวจภูธรภาค 5 และกลุ่มอื่นๆ หลังจากนั้นผมก็ทราบว่าป้ายใน 13 พื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ถูกปลดออก แต่นั่นมันก็แค่การสร้างภาพ ป้ายเหล่านั้นที่ถูกรื้อออกก็แค่ป้ายเล็กๆ ที่ไม่ได้สำคัญอะไร แต่อย่างน้อยผมก็ได้ทำให้พวกเขาตระหนัก เรื่องนี้มันค่อนข้างพูดยาก ผมไม่คิดว่าเราจะไม่รู้เรื่องการทุจริตที่แอบแฝงอยู่ เรื่องนี้มันไกลกว่าที่เราคิด” คุณพันธวัฒน์กล่าว
“ผมเข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จากที่มีการเรียกร้องขึ้นมา นายกเทศมนตรีก็สามารถรับมือกับปัญหานี้ได้ดี ตอนนี้มีการควบคุมความสูงของอาคารแล้ว แม้กระทั่งหลังคาก็ต้องออกแบบให้เป็นแบบล้านนา และมีเพียงไม่กี่สีที่สามารถทาภายนอกอาคารได้ ที่จริงแล้วถ้าเจ้าของอาคารต้องการซื้อสีทาอาคารเอง ทางเทศบาลจะส่งแรงงานมาสนับสนุน” ตุลย์ เล็กอุทัย นายกสมาคมศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าว
“ที่จริงแล้วไม่ใช่แค่รัฐบาลเท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบกับเรื่องนี้ กรมทางหลวงก็เช่นกัน พวกเขาไม่มีสิทธิ์ในการขายป้าย เพราะตอนนี้คุณจะเห็นว่าแม้กระทั่งป้ายของ The Harbour หรือของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีก็ถูกทำให้ดูเหมือนพวกป้ายของกรมทางหลวงที่เห็นทั่วทุกหนแห่งบนท้องถนน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ผิด”
คุณปวรรธณ์เห็นด้วยว่าแรงกดดันของประชาชนจะช่วยส่งผลบางอย่างกับเรื่องนี้ รูปแบบของการปกครองเริ่มเปลี่ยนจากบนลงล่างกลับกลายเป็นล่างขึ้นบน เชียงใหม่กำลังค่อยๆ เปลี่ยนแปลง และนี่ถือเป็นสิ่งที่ดี ก่อนหน้านี้การตัดสินใจทุกอย่างเป็นการตัดสินใจฝ่ายเดียวจากผู้มีอำนาจจากการเลือกตั้ง โดยที่ประชาชนมีสิทธิ์และเสียงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อผู้มีอำนาจตัดสินใจอะไรไปแล้ว และประชาชนเริ่มต่อต้าน พอเจอผู้มีอิทธิพลมากีดขวาง ทุกคนก็หยุดชะงัก วันนี้ทั้งการเคลื่อนไหวทางสังคมออนไลน์และความร่วมมือของเราทุกคนจะสร้างความเปลี่ยนแปลงจากข้างล่างขึ้นข้างบน สังคมจะผลักดันผลประโยชน์ของสังคม ผมแนะนำว่าเราควรเริ่มจากการใช้สื่อออนไลน์ต่างๆ ที่กำลังเป็นที่นิยมและบอกให้สมาชิกช่วยกันกระจายวิดีโอหรือภาพหลักฐานการติดตั้งป้ายที่ละเมิดกฎต่างๆ โดยเพิ่มคำอธิบายที่สะกิดใจ จากนั้นเราก็จัดเวิร์คช็อปและงานประกวดเพื่อหางานออกแบบไอเดียใหม่ๆ และให้ทางภาคการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เราต้องจัดลำดับให้ชัดเจน ตั้งเป้าที่เอื้อมถึงได้ ไม่งั้นพวกเราจะหมดกำลังใจ ที่สำคัญเราต้องสามารถแสดงได้ว่าเศรษฐกิจจะไม่ส่งผลกระทบในทางลบถ้ามีจำนวนป้ายน้อยลง และแสดงได้ว่าเราสามารถที่จะมีเมืองที่เจริญเติบโตมั่งคั่ง โดยที่ไม่ทำลายภาพลักษณ์ของเมือง เราควรจะแชร์วิสัยทัศน์ของเมืองเชียงใหม่ให้เป็นวิสัยทัศน์ที่เป็นไปได้ ทำอย่างไรให้เชียงใหม่เป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมที่ทันสมัยและมีความเจริญในทุกๆ ด้าน ทำอย่างไรให้สองสิ่งนี้มาบรรจบกัน
“ผมจะดูที่สัมปทานครั้งล่าสุดและสัญญาของพวกเขา เราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขสิ่งเหล่านั้นได้ แต่เมื่อมีแผนการแล้ว เราต้องส่งสัญญาณบอกพวกเขาว่าเราจะไม่ต่อสัญญาใหม่ และเมื่อไหร่ที่สัญญาหมดอายุ เราจะตั้งกฎใหม่ ซึ่งกฎใหม่จะควบคุมพื้นที่ที่ติดตั้งป้ายและจำนวนพื้นที่สาธารณะที่จะสามารถดำเนินการโฆษณาได้ เจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจจะต้องอธิบายกับเราได้ว่าทำไมเขาถึงเลือกที่จะขายพื้นที่เหล่านั้นเพื่อการโฆษณา เขาอธิบายตัวเองได้รึเปล่า เราควรดึงพวกกลุ่มคนที่ทำป้าย บริษัทโฆษณา สื่อความร่วมมือ นักธุรกิจท้องถิ่นเพื่อมาหารือทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ให้เล็งเห็นและเข้าใจถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งมลภาวะทางอากาศเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ผมกำลังใช้รูปแบบนี้ในการต่อสู้ เรื่องหมอกควันมันเป็นแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่มลภาวะทางสายตามันจะอยู่กับเราตลอด”
“เราไม่สามารถคาดหวังผลลัพธ์ทันทีได้ และนี่อาจจะต้องเป็นโครงการ 15 ปีกับเป้าหมายที่จะทำให้จำนวนป้ายลดลง แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่มีตัวเลขตรวจสอบสัมปทานของป้ายหรือตัวเลขที่จะแสดงผลกระทบทางเศรษฐกิจระหว่างการมีป้ายกับการไม่มีป้าย เราจึงควรนำนักวิชาการ นักศึกษามาเสนอข้อมูลเพื่อที่เราจะได้เจรจาเรื่องนี้จากจุดแข็ง”
คุณปวรรธณ์กล่าวต่อว่า “กรรมของเชียงใหม่เรา นั่นคือผู้มีอำนาจไม่เคยดูแลผลประโยชน์ของพวกเรา คิดดูสิครับ เราต้องแสดงยอดบัญชีของเราให้ทางรัฐบาลตรวจสอบทุกปี แต่เราแทบจะไม่สามารถคาดหวังให้รัฐบาลแสดงข้อมูลบัญชีกับเราได้เลย เราต้องการกลุ่มต่างๆ มากขึ้นในเชียงใหม่ แต่ละกลุ่มดูแลต่างประเด็น และต่างปัญหา แต่แชร์วิสัยทัศน์เดียวกัน ตอนนี้เราทุกคนต้องร่วมมือกันจุดไฟใต้ก้นผู้มีอำนาจทั้งหลาย เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ตอนนี้เราได้เริ่มพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องนี้กันบ้างแล้ว มันถึงเวลาที่เราต้องรีบลงมือทำอะไรสักอย่างแล้ว
สุดท้ายนี้ ซิตี้ไลฟ์ได้สร้างเฟสบุ๊คเพจในชื่อ SignCityChiangMai ซึ่งจะเป็นช่องทางที่เราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแชร์ข้อมูลและภาพป้ายต่างๆ ในเชียงใหม่ เราไม่ได้คาดหวังว่าปัญหานี้จะต้องถูกแก้ไข แต่เราอยากจะเป็นผู้จุดประเด็นเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กับทุกๆ ท่าน และด้วยความช่วยเหลือของพวกท่าน จากประกายไฟที่ริบหรี่จะค่อยๆ กลายเป็นเปลวเพลิงแผดเผาก้นผู้บริหารท้องถิ่นที่ไม่เอาไหนเหล่านี้