ช่างภาพลุงวิจิตร ไชยวัณณ์ เล่าเรื่องเยือนสหรัฐอเมริกาพร้อมในหลวง ในปี พ.ศ. 2503

 |  December 22, 2016

English Click Here

UNCLE_VIJID-9

ท่ามกลางฝูงชนแน่นขนัดที่ต่างเปล่งเสียงร้องถวายต้อนรับด้วยความยินดีเพียงแรกเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงเปี่ยมด้วยพระสิริโฉมอันงดงามทั้งสองพระองค์เสด็จฯลงจากเครื่องบินพระที่นั่ง ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวอเมริกันที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จในครั้งนั้น ต่างก็ชะเง้อ ชะโงก เขย่งให้ตัวสูงขึ้น ขอเพียงเพื่อจะได้ยลพระสิริโฉมอันงดงามของทั้งสองพระองค์ขณะเสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกา

บนแท่นยกสูงเหนือกลุ่มผู้คนมีช่างภาพพร้อมกล้องถ่ายรูปตัวเก่งยืนประจำการอยู่เพื่อทำหน้าที่เก็บบันทึกเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้เอาไว้ด้วยภาพถ่าย โดยมี ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ พร้อมทั้งคณะ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ เสียงบรรเลงดนตรีจากวงโยธวาทิตดังขึ้นทันทีเมื่อประตูเครื่องบินพระที่นั่งเปิดออก นอกเหนือจากบุคคลสำคัญและหน่วยอารักขา ยังมีชายไทยสวมเสื้อสูทคนหนึ่งยืนห่างออกไปไม่ไกลพร้อมกล้องถ่ายรูปขนาดเล็กห้อยบนคอของเขา เขายกกล้องถ่ายรูปใหม่เอี่ยมของเขาขึ้นกดชัตเตอร์เป็นครั้งแรก และภาพนั้นได้กลายเป็นภาพถ่ายช่วงสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่จะเป็นที่จดจำไปตลอดกาล

ปีนั้นเป็นปีพุทธศักราช 2503 มีคนไทยเพียงสองคนเท่านั้นที่ได้รับโอกาสสุดพิเศษในการตามเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา และนี่เป็นเรื่องราวประสบการณ์ของชายไทยคนหนึ่ง ที่กล่าวว่าตัวเขาเองเป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ได้ยิ่งใหญ่หรือเป็นที่รู้จักอะไร และมาจากเมืองเล็กๆที่เรียกว่าเชียงใหม่ นับเป็นโชคดีอย่างยิ่ง ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้เดินทางตามเสด็จในหลวงที่เขารักและเทิดทูน และเรื่องราวการเดินทางครั้งนั้นได้กลายมาเป็นเรื่องราวหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่

ปัจจุบันคุณลุงวิจิตร ไชยวัณณ์ อายุ 93 ปี อดีตเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คนเมือง หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของจังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นในปี 2496 และในขณะนั้นคุณลุงยังควบตำแหน่งช่างภาพของสำนักพิมพ์อีกด้วย คุณลุงเล่าว่า ตลอดระยะเวลาในการทำงานหนังสือพิมพ์ที่ผ่านมา ไม่ได้มีอะไรน่าจดจำเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่ก็ทำข่าวทั่วไป อาทิ ข่าวถนนเปิดใหม่ที่ไหนบ้าง ข่าวประกาศการแต่งงานคู่บ่าวสาวที่ไม่ได้มีบ่อยนัก โฆษณาเกี่ยวกับดนตรี งานเลี้ยงเต้นรำตามแดนซ์ฮอลล์ต่างๆ แต่ด้วยตำแหน่งบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจึงทำให้ บรรณาธิการ วิจิตร ไชยวัณณ์ ในตอนนั้นมีโอกาสได้พบปะกับผู้คนมากมาย และในค่ำวันหนึ่งก็มีโอกาสได้รับประทานอาหารเย็นร่วมกับเจ้าหน้าที่กงสุลอเมริกา

ดั่งสวรรค์บันดาล หลังจากการพูดคุย หัวใจ บก. ลุงวิจิตร ก็เต้นแรงด้วยความตื่นเต้น เมื่อเขาได้รับการเชื้อเชิญจากเจ้าหน้าที่กงสุลสหรัฐอเมริกาให้เดินทางไปอเมริกาด้วยวีซ่าสามเดือน กับพาสปอร์ตพร้อมแสตมป์ ลุงวิจิตรไม่ปฏิเสธและรีบดำเนินการเพื่อเดินทางทันที ไม่แปลกที่เขาจะรู้สึกดีใจเป็นพิเศษเพราะนี่เป็นครั้งแรกในการเดินทางไปต่างประเทศของเขา

ในขณะที่ตรึกตรองเรื่องเวลาการเดินทางอยู่นั้น ลุงวิจิตรก็ได้รับจดหมายส่งมาที่ตู้จดหมายส่วนตัวของเขาที่สำนักพิมพ์ และพบว่าเป็นจดหมายจากพระบรมมหาราชวังส่งให้แก่บริษัทสื่อสารมวลชนและ บรรณาธิการทั่วประเทศไทย เนื้อความเขียนรายละเอียดเรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกหลังจากเสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น (Massachusetts) ประเทศสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. 2470 ลุงวิจิตรรู้ทันทีเลยว่านี่แหละเป็นเวลาที่เหมาะสมที่เขาต้องไป และบอกกับตัวเองว่าเป็นโอกาสทองที่จะหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว

เมื่อวันเดินทางมาถึง นอกจากส่งจดหมายเชื้อเชิญอย่างเป็นทางการ สถานทูตสหรัฐอเมริกายังให้มอบตั๋วเครื่องบินเฟิร์สคลาส (first class) ให้แก่ลุงวิจิตรอีกด้วย เมื่อออกเดินทาง เที่ยวบินขาไปต้องไปเปลี่ยนเครื่องที่ฮ่องกง ระหว่างทางที่รอเที่ยวบินต่อไป ลุงวิจิตรจึงได้ซื้อกล้องถ่ายรูปอันใหม่ชื่อว่า ยาชิก้า เอ็มจีหนึ่ง Yashica MG-1 และ ริโค่ครึ่งเฟรม (Ricoh ½ frame) กับซื้อฟิล์มราคาย่อมเยาบางส่วน จากนั้นจึงเดินทางไปถึงเกาะฮาวาย หนึ่งเดือนก่อนที่ในหลวงจะเสด็จพระราชดำเนินมายังประเทศสหรัฐอเมริกา

ในกระเป๋าของบรรณาธิการหนุ่มยังมีจดหมายอีกหนึ่งฉบับ เป็นจดหมายสำหรับดำเนินการให้เขาสามารถเป็นช่างภาพอย่างเป็นทางการระหว่างที่ในหลวงและสมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จประพาส ด้วยจดหมายฉบับนั้นทำให้ลุงวิจิตรได้รับอนุญาตในการเข้าถึงสถานที่สำคัญต่างๆ ที่ในหลวงได้เสด็จไป

ลุงวิจิตรมารู้ในภายหลังว่าเขาเป็นช่างภาพเพียงคนเดียวที่ไม่ใช่ช่างภาพจากทางการที่ได้รับอนุญาตให้เสด็จตามในหลวงอย่างใกล้ชิด ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลสหรัฐอเมริกายังมอบเงินในการใช้จ่ายวันละ 17 เหรียญ พร้อมทั้งเตรียมคนขับรถส่วนตัวให้เขาหนึ่งคนเพื่อพาลุงวิจิตรไปส่งที่ไหนก็ได้ที่เขาอยากไป

หลังจากเที่ยวเกาะฮาวาย สำรวจดูเมืองต่างๆ ทั้งใกล้ไกล เขาก็เตรียมตัว เตรียมความพร้อมในหน้าที่ เพราะอีกไม่นาน ในหลวงจะมาเสด็จฯมายัง วอชิงตัน ดี.ซี ที่ สนามบินทหาร The Military Air Transport Service Airport (MATS) จนวันที่ 28 มิถุนายน 2503 ขณะที่ลุงวิจิตรยืนรออยู่บนถนนลาดยาง ตอนที่หันไปรอบๆ ลุงวิจิตรต้องประหลาดใจ เมื่อหันไปพบญาติของเขาที่มาศึกษาต่อที่นี่ในหมู่ฝูงชนผู้มารอรับเสด็จ จึงได้แวะทักทายพูดคุยแต่ก่อนที่บทสนทนาต่างๆจะยืดยาวออกไปตามประสาคนไม่ได้เจอกันนาน เสียงพูดคุยก็ต้องหยุดลงเมื่อเสียงกระหึ่มของเครื่องบินไอพ่นซึ่งเครื่องบินพระที่นั่งมาถึง ลุงวิจิตรจึงรีบไปยืนอยู่กับเหล่าบุคคลสำคัญ ยกกล้องถ่ายรูปขึ้นมาด้วยมือสั่นเทาจากความตื่นเต้นระคนยินดีที่ท่วมท้นอยู่เต็มหัวใจ

0102-1_CMYK-1366x900

สนามบินทหาร The Military Air Transport Service Airport (MATS)

แชะ! เขากดชัตเตอร์ถ่ายรูปแรกท่ามกลางเสียงผู้คนโห่ร้องต้อนรับ แชะ! เสียงชัตเตอร์ยังดำเนินต่อไปในรูปที่สอง ไม่นานนักฟิล์มก็หมด มือของลุงวิจิตรสาละวนกับการเปลี่ยนม้วนฟิล์มเขารีบเปลี่ยนเป็นฟิล์มขาวดำขึ้นมาแทนที่ม้วนก่อนหน้านั้นซึ่งถ่ายไปแล้ว 72 ภาพ เขามองเห็นในหลวงทรงทักทาย จับพระหัตถ์กับประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์และเสด็จฯลงมาจากแท่น จากนั้นเสด็จพระราชพระดำเนินผ่านลุงวิจิตรไป เสด็จขึ้นรถยนต์พระที่นั่งเข้าสู่ภายในเมือง การเสด็จฯเยือนอย่างเป็นทางการจะเริ่มขึ้นในวันถัดไป ดังนั้นลุงวิจิตรจึงรีบกลับไปที่โรงแรม จัดการล้างฟิล์มเพื่อส่งรูปบางส่วนกลับไปยังเชียงใหม่ พร้อมกับเขียนบทความส่งถึงหนังสือพิมพ์คนเมือง ใช้เวลาประมาณอาทิตย์เศษๆจดหมายจึงจะถึงสำนักพิมพ์

วันรุ่งขึ้น ลุงวิจิตรพร้อมด้วยคนขับรถก็มุ่งหน้าเดินทางเข้าสู่เมืองเพื่อติดตามขบวนเสด็จ ชาวอเมริกันและชาวไทยในต่างแดนยืนเรียงรายอยู่เต็มสองฝั่งริมถนน ต่างยืนโบกธง บ้างก็โบกไม้โบกมือ รอรับเสด็จในหลวงที่จะเสด็จผ่านมา โดยมีเพียงช่างภาพทางการชาวไทยหนึ่งคนและลุงวิจิตรเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ตามเสด็จอย่างใกล้ชิด ต่างจากช่างภาพคนอื่นๆที่ต้องยืนอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ดังนั้นมุมกล้องของลุงวิจิตรจึงมาจากมุมมองที่ใกล้ มีระนาบเดียวกับที่พระองค์ประทับยืนอยู่ รายละเอียดของภาพคมชัด หรือจะเรียกว่า ได้มุมกล้องที่เหมาะเจาะ

0204-1_CMYK-1366x900

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช, สมเด็จพระนางเจ้าฯสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ณ ตึกเอ็มไพร์สเตต

ในทุกๆวันหลังจากนั้นการตามขบวนเสด็จไปทุกแห่งถือเป็นหน้าที่อันทรงเกียรติของลุงวิจิตร ด้วยบทบาทช่างภาพ เขากดชัตเตอร์เก็บเรื่องราวต่างๆไว้บนภาพถ่าย โดยเฉพาะภาพบรรยากาศล้อมรอบในหลวงและสมเด็จพระนางเจ้าฯ จนมาถึงวันที่สาม ลุงวิจิตรตามเสด็จเข้าไปในทำเนียบขาว ในหลวงทรงแลกเปลี่ยนของขวัญกับประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ในห้องทำงานรูปไข่ (Oval Office) ภายในห้องมีช่างภาพ นักเขียน เพียงไม่กี่คนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปนั่งในห้องนั้น ตรงบริเวณที่มีเชือกผูกกั้นอยู่ ลุงวิจิตรพบว่านักข่าวที่นั่งข้างๆเขาก็เป็นคนไทยเช่นกัน มีชื่อว่า ไชยยงค์ ชวลิต แต่เป็นนักข่าวไทยที่ทำงานอยู่ในอเมริกา ตามนิสัยคนไทย ทั้งสองคนจึงนั่งพูดคุยกันอย่างถูกคอ ถ่ายรูปกันไปก็คุยกันไป มีความสุขสนุกสนานกับการพูดคุย จนกระทั่งการเสด็จเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆเสร็จสิ้น เมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินผ่านทั้งสองคน ได้มีรับสั่งด้วยว่า “อย่าคุยกัน”

ลุงวิจิตรกล่าวว่าตลอดระยะเวลาของการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ พระองค์ท่านรับสั่งกับลุงวิจิตรแค่เพียง 3 คำนี้เท่านั้น แม้จะเป็นคำกล่าวตักเตือนเหมือนพ่อดุลูก แต่ลุงวิจิตรบอกว่าเขาก็ยังซาบซึ้งใจเหลือเกิน ที่ครั้งหนึ่งองค์เหนือหัวของปวงชนชาวไทยมีรับสั่งกับเขา

หลังจากเสด็จฯเยี่ยมชมกรุงวอชิงตัน ดีซี ลุงวิจิตรติดตามขบวนเสด็จไปยังนิวยอร์ก ยังคงมีผู้คนมารอเข้าเฝ้าระหว่างสองข้างทางแน่นขนัด ประชาชนร่วมกันปรบมือรับเสด็จ หากแหงนหน้ามองขึ้นไปบนฟากฟ้าจะเห็นกระดาษสายรุ้ง Ticker Tape โปรยปรายลงมา เป็นภาพที่งดงามจับใจยิ่ง อีกครั้งที่ลุงวิจิตรพบว่าเขาเป็นช่างภาพเพียงคนเดียวที่ได้ตามเสด็จในหลวงพระราชินี และประธานาธิบดีไอเซ็นเฮาว์ขึ้นไปข้างบนสุดของ ตึกเอ็มไพร์สเตต (Empire State Building) ซึ่งไม่รู้ว่าทำไมลุงวิจิตรจึงเป็นช่างภาพเพียงคนเดียวที่ได้ขึ้นไป

0106-1_CMYK-1346x900

เขายืนอยู่อย่างสงบเสงี่ยม ไม่กล้าถ่ายรูปมากนัก แต่เขาเล่าว่า ณ เวลานั้นมองเห็นในหลวงพระราชินีทรงพระสรวลและรับสั่งกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริการาวกับเป็นเพื่อนกัน ไม่มีอะไรที่เป็นพิธีการหรือเป็นทางการ เป็นภาพที่อบอุ่นและน่ารัก ภาพเหล่านั้นยังคงประทับอยู่ในใจของเขาจนทุกวันนี้ หลังจากนั้นเขาได้ติดตามขบวนเสด็จไปทุกที่ ถ่ายรูปมุมนั้นมุมนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ the Tomb of the Unknowns, the Abraham Lincoln Statue, The Statue of Liberty, and Niagara Falls ลุงวิจิตรเดินทางไปทั่วอเมริกา ในทุกๆคืนพอกลับไปห้องนอน เขาจะอัดฟิล์ม รีบเขียนข่าวแล้วก็ส่งกลับไปที่เชียงใหม่ถือเป็นกิจวัตรประจำวัน

อีกเรื่องราวหนึ่งที่น่าประทับใจของลุงวิจิตร คือตอนที่ในหลวงเสด็จฯไปทรงเยือนโรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น (The Mount Auburn Hospital in Cambridge) เมืองเคมบริดจ์ ซึ่งเป็นสถานที่ทรงพระราชสมภพ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมหมอคนหนึ่งชื่อว่า สจ๊วต วิตต์มอร์ นายแพทย์ผู้ถวายการประสูติ (W.S. Whittermore) นายแพทย์ วิตต์มอน์เล่าว่าตนได้เรียกพระนามเมื่อแรกประสูติของในหลวงว่า สงขลาเบบี้ ระหว่างที่พระองค์ท่านประทับฟังหมอเล่า นางพยาบาลที่ช่วยหมอถวายการเสด็จพระราชสมภพพากันหัวเราะกันครื้นเครง ในหลวงได้ทรงพระราชทานของขวัญแก่นายแพทย์ สจ๊วต วิตต์มอร์ พร้อมหน้ากล่องทรงจารึกว่า “ให้เพื่อนคนแรกในโลกของฉัน ดอกเตอร์ ดับบลิว.สจ๊วต วิตต์มอร์” บรรยากาศตอนนั้นเต็มไปด้วยความสนุกสนานและปลาบปลื้ม พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงและทีมคณะแพทย์ที่โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น จึงเป็นรูปโปรดของลุงวิจิตร

0304-1_CMYK-1346x900

การพบปะกันระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และทีมแพทย์ นางพยาบาล ผู้ถวายการประสูติ

หลังจากนั้นสองอาทิตย์ในหลวงและสมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทย ส่วนลุงวิจิตรยังคงอยู่ในสหรัฐอเมริกา เขาเตรียมตัวเก็บฟิล์มใส่กระเป๋า เขียนบทบรรณาธิการเรื่องสุดท้ายส่งกลับเมืองไทย จากนั้นไปหยุดท่องเที่ยวที่ลอนดอน เดนมาร์คต่อด้วยยุโรปอีกสองสามเมือง บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเก็บเกี่ยวประสบการณ์ความสนุกสนานและความสุขจนเต็มอิ่ม ในที่สุดก็กลับบ้านที่เชียงใหม่ในเดือนกรกฎาคม

แม้เรื่องราวของคุณลุงวิจิตร ไชยวัณณ์ ได้ถูกหลงลืมไปตามกาลเวลา รูปถ่ายของลุงเก็บอยู่ในกล่องเปื้อนฝุ่นที่ไม่มีใครเห็นมาหลายทศวรรษ ตอนที่ Citylife ไปเยี่ยมคุณลุงเมื่อเดือนที่แล้ว คุณลุงนั่งอยู่ที่หน้าบ้านไม้เล็กๆที่อยู่นอกอำเภอแม่วาง คุณลุงนั่งจิบน้ำอยู่ คล้ายกับรอให้คนมาเยี่ยม เพราะไม่มีอีเมลล์ ไม่มีโทรศัพท์ วิธีที่จะติดต่อคุณลุงคือ ต้องไปเยี่ยมที่บ้านเพียงอย่างเดียว0402-1_CMYK-201x300

เมื่อทีมงาน Citylife นั่งดูรูปภาพที่คุณลุงถ่ายเก็บไว้ คุณลุงยิ้มด้วยแววตาที่ยังสดใส เห็นรูปนั้นรูปนี้ ก็เล่าให้ฟังด้วยความจำที่แม่นยำ ลุงบอกว่าเสียดายมากเลยที่ไม่ได้เก็บสำเนาของหนังสือพิมพ์คนเมืองเอาไว้สักฉบับเลย แต่ก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะรูปเหล่านี้ได้เติมเต็มชีวิตของลุงให้สมบรูณ์แล้ว คุณลุงกล่าวว่า

“ในหลวงเป็นเหมือนพ่อคนที่สองของผม ขอน้อมส่งพระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย”

จากนั้นคุณลุงวิจิตรก็เอื้อมมือเข้าไปในกระเป๋าใบหนึ่ง ซึ่งก็มีกล้องที่ใช้ตอนอยู่สหรัฐอเมริกา กล้องนี้ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีราวกับไม่มีใครแตะต้องเลยหลังจากใช้งานในการเดินทางครั้งนั้น เมื่อหันกล้องมาให้เราดู ก็เห็นคล้ายมีแถบสีเหลืองๆอยู่

“อ้าว! ลืมอัดฟิล์มม้วนนี้นี่” คุณลุงวิจิตรหัวเราะคิกคัก เห็นภาพบางส่วนยังอยู่ในกล้อง พอตรวจสอบอีกทีก็เจอฟิล์มอีกสามม้วนที่ไม่ได้อัด Citylife จึงเตรียมการจะอัดรูปเหล่านี้ที่อยู่ในกล้องนานถึง 56 ปี ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นรูปจากอเมริกาหรือหลังจากที่ลุงได้ไปเที่ยวชมเมือง หากใครสนใจอยากชมภาพถ่ายอื่นๆจากฝีมือของคุณลุงวิจิตร ไชยวัณณ์ สามารถเข้าชมได้ที่หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่