English Click Here
กี่ครั้งกี่คราที่เราอ่านข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ หรือข่าวในสื่อออนไลน์ แล้วรู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนจนต้องส่ายหน้าด้วยความไม่พอใจ และถอนหายใจด้วยความสิ้นหวัง? เพราะความคิดของรัฐเริ่มไปในทางที่ไม่ดีนัก เรารู้สึกหมดหนทางที่จะทำให้มันถูกต้อง ทำได้เพียงแค่จดมันไว้
คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ลงมือทำอะไรเลย แต่ไม่ใช่กับผู้หญิงกลุ่มนี้ ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์หยุดยั้งโครงการที่ไม่เป็นที่ยอมรับไว้ได้ อีกทั้งยังได้นำชุมชนและองกรค์ต่างๆ มารวมตัวกันเพื่อปกป้องป่าสีเขียวผืนใหญ่ใจกลางเมือง
ข่าวลือที่น่าหนักใจ
โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัยเป็นโรงเรียนหญิงล้วน ตั้งอยู่บนถนนเจริญประเทศ ถนนแออัดที่วิ่งขนานไปกับแม่น้ำปิง ที่ดินผืนว่างเปล่าที่ติดกับโรงเรียนเรยีนามายาวนานกว่า 30 ปี มีต้นไม้ทั้งใหญ่น้อยอุดมสมบูรณ์ และเป็นพื้นที่สีเขียวเพียงแห่งเดียวกลางเมืองเชียงใหม่ที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ในบริเวณนี้ของตำบลช้างคลานเป็นเหมือน “บ้าน” แห่งที่สองของนักเรียนในโรงเรียน 6 โรงเรียน ที่มีนักเรียนเกือบ 10,000 คน มีทั้งชุมชนมุสลิมล้อมรอบมัสยิดสองหลัง ชุมชนชาวคริสต์คาทอลิก รวมทั้งวัดวาอารามของชาวพุทธ และชุมชนศาสนาซิกข์ ในช่วงเวลาเร่งรีบ ถนนเส้นนี้จะมีการจราจรติดขัดที่สุดในเชียงใหม่ จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2549 พบว่า 74% ของการรับส่งนักเรียนบนถนนเส้นนี้ใช้เวลาประมาณ 40 นาทีต่อวัน และปัจจุบันนี้ผ่านมากว่า 10 ปีแล้ว ยานพาหนะ รับ-ส่ง นักเรียนที่วิ่งบนถนนเส้นนี้ทุกวันทั้งเช้าและเย็นเพิ่มขึ้นประมาณ 6,000 คัน
บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่มากและแออัดเกินกว่าที่กรมธนารักษ์จะอนุญาตให้บริษัทเอกชนมาประมูลราคาสำหรับสัญญาเช่า 30 ปี (พร้อมทั้งการขยายระยะเวลาอีก 30 ปี) เพื่อสร้างโครงการคอนโดธนารักษ์ประชารัฐสำหรับข้าราชการ บนที่ดินจัดสรรจำนวน 9 ไร่ 3 งาน
เมื่อดูจากแผนที่ Google maps พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ใหญ่ที่สุดที่ไม่ได้มีการพัฒนาในเขตเทศบาลเมืองเชียงใหม่ ซึ่งหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เข้าไปสำรวจเมื่อไม่นานมานี้และกล่าวว่า ถึงแม้ว่าพื้นที่นี้ไม่ใช่ป่าจริงๆ แต่ก็มีต้นไม้เติบโตขึ้นถึง 29 ชนิด และได้แนะนำให้ใช้พื้นที่นี้เป็นสวนรุกขชาติเพื่อช่วยชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากพื้นที่แออัด
“กรมธนารักษ์ได้ทำตามเจตนาดีของนโยบายรัฐบาลเพื่อพัฒนาโครงการบ้านราคาไม่แพงสำหรับข้าราชการ ดิฉันคิดว่านี่เป็นสิ่งที่น่ายกย่อง” ปลายอ้อ ทองสวัสดิ์ ที่ปรึกษาสมาคมนักเรียนเก่าโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย กล่าว “แต่สิ่งที่เรากำลังปกป้องอยู่ ก็เพื่อประโยชน์ของพื้นที่นี้ ในเมื่อทางกรมธนารักษ์ก็มีพื้นที่อีกหลายแห่งที่เหมาะสมกว่านี้ และไม่ส่งผลกระทบทางลบแก่สิ่งแวดล้อมรอบข้างและชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย”
ถึงแม้ว่ามีขอบเขตของโครงการ แต่ไม่มีการประชาสัมพันธ์หรือประกาศให้ชุมชนท้องถิ่นทราบก่อนจะเริ่มการพัฒนา ทำให้ทางโรงเรียนต่างๆเป็นกังวลมากกับข่าวลือของโครงการนี้ และได้เรียกร้องให้มีการประชุมกับกรมธนารักษ์ เชียงใหม่ ในวันที่ 5 สิงหาคม อย่างน้อยสองอาทิตย์ก่อนถึงกำหนดการเซ็นสัญญาโครงการ โรงเรียนทั้งหมดและชุมชนขนาดใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกมาประท้วงจนกลายเป็นประเด็นที่สื่อมวลชนนำไปรายงานข่าวในพื้นที่สื่อหลักและสื่อออนไลน์ นำไปสู่การยกเลิกโครงการนี้ ในวันที่ 15 สิงหาคม
“พวกเขายังไม่ได้สัญญาว่าจะยกเลิกโครงการทั้งหมดในอนาคต และจนกว่าเราจะมั่นใจว่าพื้นที่นี้จะได้รับการพัฒนาเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช่แค่ผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง และสร้างความเสียหายให้กับกลุ่มคนที่เหลือ เราจะสู้ต่อไปไม่หยุด” ปลายอ้อ กล่าว
เมื่อนานมาแล้ว
ฉันเคยใช้ชีวิตนักเรียนอยู่ในโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัยมานาน 10 ปี ตอนที่ฉันยังเรียนอยู่ที่นี่ พื้นที่ดังกล่าวเป็นโกดังเย็นเก็บสินค้าตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว และที่ดินนี้เคยเป็นที่ตั้งของบริษัทล้มละลายในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และถูกทิ้งร้างไว้อย่างนั้นจนถึงปัจจุบัน เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่อยู่ในการจัดการโดยกรมธนารักษ์ ซึ่งกรมมีหน้าที่ดูแลอาคารมากกว่า 561,000 อาคาร บนที่ดิน 2.5 ล้านไร่ทั่วประเทศ ตามข้อมูลล่าสุดของการสำรวจสำมะโนประชากร พ.ศ. 2558
ในปี พ.ศ. 2546 ชมรมจักรยานวันอาทิตย์เชียงใหม่ ได้ส่งจดหมายถึงกรมธนารักษ์เพื่อขอใช้ที่ดินสำหรับปั่นจักรยาน ตามหนังสือการลงนามบันทึกความร่วมมือที่ลงนามโดยกรมธนารักษ์เพื่อแสดงความตั้งใจที่จะใช้ที่ดินเป็นพื้นที่สาธารณะ ในปี พ.ศ. 2551 นายกเทศมนตรีจังหวัดเชียงใหม่ ดร.เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ ศิษย์เก่าของโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย ได้ส่งข้อเสนอไปยังกรมธนารักษ์เพื่อสร้างสวนสาธารณะโดยการสนับสนุนจากเทศบาล แต่น่าเสียดายที่กรมธนารักษ์ตอบยกเลิกหนังสือการลงนามบันทึกความร่วมมือ โดยอ้างว่า “พื้นที่นี้มีแนวโน้มเชิงธุรกิจสูง” อย่างไรก็ตามโครงการที่เสนอไปนั้นถูกเก็บเข้าลิ้นชัก และดร.เดือนเต็มดวง ได้หมดวาระการดำรงตำแหน่ง
ในเดือนมิถุยายนเริ่มมีข่าวลือของโครงการใหม่บนที่ดินผืนนี้ ด้วยความเป็นกังวล ทางโรงเรียนเรยีนาจึงได้เขียนจดหมายไปยังกรมธนารักษ์เพื่อสอบถามข้อมูลและข้อชี้แจง ทางกรมธนารักษ์ได้ตอบกลับมาพร้อมกับรายชื่อเอกสารของผู้ที่ชนะการประมูลและขอบเขตของโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นตึก 8 ชั้น รวม 900 ยูนิต ในวันที่ 5 สิงหาคม ตัวแทนของโรงเรียนเรยีนาได้พบปะกับหัวหน้ากรมธนารักษ์เพื่อขอให้พวกเขาพิจารณาโครงการนี้อีกครั้ง และบอกพวกเขาว่าทางกรมมีสิทธิที่จะพัฒนาที่ดินตามที่พวกเขาเห็นสมควร และอธิบายเพิ่มเติมว่าถ้าเพื่อนบ้านจะสร้างห้องน้ำ เราไม่มีสิทธิ์ห้ามเขาเพราะไม่ใช่ที่ดินของเรา แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนกว่าการสร้างห้องน้ำ และสอบถามทางกรมธนารักษ์ว่าได้ทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสั่งคมแล้วหรือยัง แต่เขาบอกเราว่างบประมาณมีไม่พอที่จะทำการประเมินได้
เมื่อข่าวลือได้รับการยืนยัน ทางโรงเรียนจึงเริ่มล่ารายชื่อเพื่อส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เพื่อคัดค้าน
ในวันกำหนดการประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัด วันที่ 9 สิงหาคม กรมธนารักษ์ได้ติดต่อมายังโรงเรียนเพื่อรับจดหมายไปมอบให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเอง แต่เราได้ปฏิเสธไปอย่างสุภาพ จากนั้นเขาได้ถามเราว่าทางโรงเรียนต้องการอะไร “หากจะให้โครงการนี้เกิดขึ้น เราต้องทำอะไรบ้าง?” เขาถาม
แรงสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น
“หลังจากวันที่ 5 สิงหาคม เราเริ่มเป็นกังวลมากขึ้น แต่หลังจากวันที่ 9 สิงหาคม เราโกรธ แต่ก็ตั้งใจและมีกำลังใจที่จะแก้ไขปัญหา” ดร.เขมกร ไชยประสิทธิ์ รองคณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายกสมาคมผู้ปกครองโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย กล่าว “เราเริ่มติดต่อไปยังศิษย์เก่าและตั้งกลุ่มบนเฟสบุ๊คเพื่อเริ่มกระบวนการคัดค้าน”
“สิ่งแรกที่รู้คือ เราตระหนักว่านี่เป็นเรื่องที่ใหญ่มากกว่าเพื่อนบ้านทะเลาะกัน” ดร.เขมกร กล่าวต่อ “ผู้คนนับหมื่นได้รับผลกระทบโดยตรงจากการพัฒนาครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ ชุมชนต่างๆ สิ่งแวดล้อมรอบข้าง มันสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องมีข้อมูลอัดแน่น เราใช้ทุกรายชื่อที่เราหามาได้ ออกแบบข้อความ และนำกลุ่มคนมาสนับสนุนเพื่อเป็นปาก เป็นเสียงให้มากขึ้น”
เมื่อคณะกรรมการได้พบกับผู้ว่าราชการจังหวัดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม และยื่นจดหมายให้แก่ผู้ว่าฯ เรียบร้อย พวกเขาตื้นตันใจที่หาผู้สนับสนุนมาร่วมประชุมกว่า 30 องค์กร ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ แต่วันนี้มีองค์กรเพิ่มขึ้นเกือบ 50 องค์กร รวมไปถึงชุมชนทั้งสี่ศาสนาในพื้นที่โรงเรียนของตำบลช้างคลาน หลายองค์กรที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับพื้นนั้นก็ได้เข้าร่วมด้วยเช่นกัน อาทิ กลุ่มเครือข่ายรักษ์แม่ปิง และสมาคมอนุรักษ์นก เป็นต้น
“เป็นความรู้สึกอุ่นใจที่ได้พูดคุยกับชุมชนในบริเวณใกล้เคียงกัน แต่เป็นบริเวณที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้มากนัก และทุกคนได้ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุน ร้านค้าต่างๆ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขายอมเสียสละผลกำไรที่จะได้รับจากโครงการดังกล่าวเพื่อสิ่งที่ดีกว่านี้” ดร.เขมกร กล่าวเพิ่มเติม
“หัวหน้าชุมชมมุสลิมบอกกับฉันว่าถนนเส้นนี้ไม่ได้มีแค่ประวัติ แต่เป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความสามัคคีและจุดร่วมของศาสนาต่างๆ” ดร.เขมกร กล่าวระหว่างการประชุม “สี่ชุมชนของแต่ละศาสนาอาศัยอยู่เคียงข้างกันมายาวนานร้อยกว่าปี ปัญหาของอีกกลุ่มหนึ่งเหมือนเป็นปัญหาของตนเองที่พร้อมจะช่วยกันแก้ไข ฉันประทับใจมากจริงๆ”
คณะกรรมการส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่าจากโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย ซึ่งแบ่งกันทำงานเป็นกลุ่มๆ ฉันอยู่กลุ่มกับ ดร.เดือนเต็มดวง ผู้ผลิตและผู้จัดการฝ่ายขายของฉันต่างเป็นเพื่อนร่วมชั้นที่เรียนโรงเรียนเรยีนามา และ ดร.เขมกร เป็นผู้ออกแบบข้อความ โลโก้ สโลแกน คำขวัญ และงานประชาสัมพันธ์ ส่วนกลุ่มนักวิจัยถูกดึงตัวมากจากหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และดำเนินการสำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สามารถเป็นไปได้ รวมทั้งความแออัดและการสัญจร
บนถนน แต่ยังไม่ได้รวมถึงการคำนวณปริมาณขยะ และการใช้น้ำที่จะเกิดขึ้นจากโครงการใหม่นี้ และยังมีกลุ่มสื่อต่างๆที่ สร้างคำร้องภายในหนึ่งสัปดาห์ และมีคนมาเซ็นลงนามประมาณ 4,500 คน
การประท้วงที่งดงาม
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม อธิบดีกรมธนารักษ์ จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ได้ประกาศว่าโครงการนี้จะดำเนินการต่อไปตามที่วางแผนไว้ การพัฒนาโครงการนี้เป็นหนึ่งในห้าโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งกรมธนารักษ์ได้ทำการเปิดตัวไปในปีนี้ เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลในการสร้างที่อยู่อาศัยต้นทุนต่ำสำหรับข้าราชการ และบริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด ได้ชนะการประมูลราคาสัญญาเช่าซึ่งไม่เปิดเผยราคา และจะมีการลงนามในวันที่ 16 สิงหาคม 2559
การประชุมเร่งด่วนที่จัดขึ้นสำหรับการประท้วงในวันที่ 15 สิงหาคม คนเกือบร้อยคนมาร่วมกิจกรรมและเป็นอาสาสมัคร คำขวัญในการรณรงค์ครั้งนี้คือ “ป่าของเรา ปอดของเรา” ได้นำความกังวลสู่วงกว้าง ไม่ได้เป็นเพียงแค่ปัญหาของโรงเรียนหรือชุมชนอีกต่อไป
กิจกรรมนี้เริ่มต้นโดยคนธรรมดาสามัญชนในเชียงใหม่เพื่อรวบรวมทรัพยากรท้องถิ่นทั้งหมด และศิษย์เก่าที่อยู่กรุงเทพฯ ยังคงทำงานอยู่เบื้องหลัง วิ่งส่งมอบส่งจดหมายถึงกระทรวงรัฐบาลอีก 9 แห่ง นักข่าวสื่อมวลชนได้รับเชิญและสื่อสังคมหลายพันคนตอบตกลงว่าพวกเขาจะเข้าร่วมการประท้วงนี้
เวลาตีหนึ่งของวันประท้วง วันที่ 15 สิงหาคม หนึ่งวันก่อนการเซ็นสัญญากับบริษัท อารียา ผู้ชนะการประมูลราคา มีคนส่งข้อความถึงเราในกลุ่มไลน์ว่าโครงการนี้ถูกยกเลิกแล้ว เรารู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก
“ฉันคิดว่าเราได้รับคำตอบที่กระจ่างแจ้งแล้ว” ดร.เดือนเต็มดวงกล่าว “คนเชียงใหม่ต้องการเก็บพื้นที่สีเขียวนี้ไว้ให้คงอยู่เพื่อประโยชน์สาธารณะ เราไม่ต้องการการพัฒนาใดๆ ไม่มีเหตุผลอะไรที่โครงการจะต้องมาสร้างบนพื้นที่แห่งนี้ เพราะพื้นที่นี้มีค่ามากสำหรับเราและคนรุ่นหลัง มากกว่าการสร้างพื้นที่ให้เช่า”
การประท้วงยังคงดำเนินไปตามแผนที่วางไว้ แต่แล้วในนาทีสุดท้าย คนหลายพันคนรวมทั้งสื่อไม่ได้มา เพราะคิดว่าโครงการถูกยกเลิกไปแล้ว
ผู้คนกว่าหนึ่งพันคนมาร่วมนั่งฟังเสวนาโดย ดร.เขมกร เราทุกคนรวมกันที่สนามหญ้าของโรงเรียนเรยีนาเป็นวงกลม และร่วมร้องเพลงกัน เด็กนักเรียนจากโรงเรียนพระหฤทัยและโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย รวมทั้งผู้นำชุมชน และสมาชิกชุมชนร่วมร้องเพลง “ต้นไม้ของพ่อ” และ “โลกสวยด้วยมือเรา” อย่างพร้อมเพรียงกัน เราต่างเช็ดน้ำตาที่ไหลคลอเบ้า
“ผมเคยได้ยินสองเพลงนี้หลายต่อหลายครั้งในชีวิตผม” คุณพ่อฟรังซิส มุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิกเชียงใหม่ พูดขึ้น
“แต่สำหรับวันนี้ มันเป็นเพลงที่งดงามที่สุดเท่าที่ผมเคยได้ยินมา”
หนทางอีกยาวไกล
ในวันต่อมา สื่อมวลชนได้รายงานข่าวเรื่องการประท้วงและการยกเลิกของโครงการ แม้ว่าจะเป็นชัยชนะเล็กๆ แต่เราก็ได้ต่อสู้ฟันฝ่ามาไกลมาก “ฉันมั่นใจ 50/50 ในความสำเร็จของเรา” ดร.เขมกร กล่าว “เรื่องแบบนี้มักจะโผล่มาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่มีใครหยุดมัน สิ่งที่เราต้องทำคือเขียนมันลงไปว่าพื้นที่นี้เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะชน ซึ่งเรามีประชุมอีกครั้งในวันที่ 27 สิงหาคม เพื่อระดมความคิดสำหรับแผนการใช้พื้นที่นี้ต่อไป”
ถนนข้างหน้ายังอีกยาวไกล แต่กลุ่มสนับสนุนมีเพิ่มมากขึ้น และมองว่ากรณีนี้เป็นกรณีศึกษาสำหรับการเคลื่อนไหวในภายภาคหน้า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ให้คำมั่นว่าจะให้นักศึกษา 100 คน ศึกษาแนวทางกฎหมายสำหรับโครงการนี้ในเดือนถัดไป ส่วนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จะจัดงานครบรอบสิบปีในเดือนกันยายน โดยจะเชิญศิลปินชาวเชียงใหม่ เทพศิริ สุขโสภา จัดกิจกรรมภาพวาดรูปเชิงอนุรักษ์เกี่ยวกับที่ดินผืนนี้ ส่วนแต่ละกลุ่มก็จะทำข้อมูลเพิ่มเติม และหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ทำข้อเสนอขึ้นมาเพื่อเสนอการใช้งานที่ดินผืนนี้เพื่อเป็นสวนรุกขชาติและสวนสาธารณะ
ตามคำกล่าวของคุณหมอนักอนุรักษ์ ดร. รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา “สิ่งนี้เป็นการนำพื้นที่ไปใช้ในทางที่ผิด นโยบายของรัฐบาลมีความชัดเจนในการสนับสนุนและปกป้องพื้นที่สีเขียวภายในชุมชนท้องถิ่น และกรมธนารักษ์ไม่ได้เพียงแค่ต่อต้านนโยบายของประเทศเท่านั้น แต่กำลังจะทำลายทรัพย์สมบัติอันล้ำค่าของชุมชน ตลอดจนเพิกเฉยต่อความต้องการของชาวเชียงใหม่อีกด้วย”