For English Click Here
เราจะสังเกตได้ว่าปีนี้ประเทศไทยเราฝนตกน้อยมาก บ้างก็ตกแบบประปราย บ้างก็ตกห่าใหญ่ จากการรายงานของรัฐบาลและสำนักงานสถิติแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2558 พบว่าประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบสองทศวรรษ
สำนักชลประทานที่ 1 ภาคเหนือรายงานว่าปริมาณน้ำฝนในภาคเหนือขณะนี้ลดน้อยลงและปริมาณน้ำในเขื่อนที่ถูกกักเก็บอาจจะแห้งเหือดเกือบหมดในอีกสองเดือนข้างหน้า พอๆ กับระดับน้ำในแม่น้ำปิงที่ลดลงแล้วมากถึง 75%
ในแต่ละวันสำนักชลประทานที่ 1 จะปล่อยน้ำให้หลายบริษัทที่ส่งต่อน้ำประปาในจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 103,000 ลบ.ม. หรือราวๆ 3 ล้าน ลบ.ม. ต่อเดือน จากการให้ข้อมูลของคุณอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 ปริมาณน้ำที่ต้องการสำหรับเมืองเชียงใหม่จริงๆ นั้นมีปริมาณน้อยถ้าจะเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำ 300 ล้าน ลบ.ม. ที่ถูกใช้สำหรับการเกษตรในหน้าฝน หรือประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม. ต่อเดือน ซึ่งจริงๆ แล้วมีน้ำเพียง 3% เท่านั้นที่ถูกใช้ในการประปา ขณะที่ 83% ของน้ำทั้งหมดถูกใช้ไปกับการทำการเกษตร และที่เหลืออีก 14% นั้นถูกใช้ในการดูแลรักษาระบบนิเวศในภาคเหนือ
เราต้องการน้ำฝนเพื่อที่จะมีปริมาณน้ำเพียงพอในการอุปโภคบริโภค พื้นที่ในเขตของสำนักชลประทานที่ 1 มีสองเขื่อนที่เก็บน้ำหลักๆ คือ เขื่อนแม่กวงและเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ซึ่งสามารถรับปริมาณน้ำได้ 12% และ 20% ตามลำดับ น้ำที่ถูกกักเก็บนั้นมาจากน้ำในแม่แตงทั้งสิ้น มีเพียงอ่างเก็บน้ำหลักๆ ประมาณสิบในยี่สิบที่ของภาคเหนือที่มีระดับน้ำเฉลี่ยต่ำกว่า 29% และที่เหลืออีกสิบที่มีระดับน้ำเฉลี่ยต่ำกว่าครึ่ง
สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ได้ประกาศให้ 23 อำเภอในภาคเหนือเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง และประกาศอย่างเป็นทางการว่า ประชากรกว่า 300,000 คนกำลังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนักในขณะนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วจำนวนผู้ประสบภัยแล้งอาจมีมากกว่านี้ก็เป็นได้
นอกจากนั้นเศรษฐกิจของประเทศไทยขึ้นอยู่กับภาคการเกษตรเป็นหลัก มากกว่าครึ่งของ 1.1 ล้านไร่ของพื้นที่การเกษตรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูนและแม่ฮ่องสอนต้องพึ่งปริมาณน้ำฝน ส่วนอีก 500,000 ไร่ขึ้นอยู่กับน้ำจากทางชลประทานที่ได้จากแหล่งสำรองน้ำซึ่งก็มีปริมาณต่ำลงเรื่อยๆ
น้ำปริมาณ 1.8 ล้าน ลบ.ม. จะถูกปล่อยจากเขื่อนแม่งัดเพื่อให้มีปริมาณน้ำที่เพียงพอสำหรับการชลประทานในทุกๆ สัปดาห์ และอีก 58,000 ลบ.ม. จะถูกปล่อยสำหรับการประปาในแต่ละวัน น้ำจากทางชลประทานจะถูกปล่อยโดยตรงสู่แม่น้ำในวันศุกร์และวันเสาร์
เขื่อนแม่งัดถือได้ว่าเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่สำคัญมากที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ เพราะปริมาณน้ำมากกว่าครึ่งที่เราใช้บริโภคต่อสัปดาห์มาจากที่นี่เพียงแหล่งเดียวเท่านั้น และหากฝนยังไม่ตกแบบนี้ต่อไป เขื่อนแม่งัดจะไม่มีน้ำไปอีก 25 สัปดาห์
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือการที่ทุกคนต้องการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำปิง การชลประทานจึงตระหนักอย่างยิ่งในการปล่อยน้ำสำหรับการเกษตรทุกๆ สัปดาห์ น้ำที่เหลือจากแม่น้ำปิงจะถูกส่งต่อไปยังเขื่อนภูมิพลจังหวัดตาก หากเปรียบเทียบแล้ว เขื่อนภูมิพลจะปล่อยน้ำปริมาณ 15 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน ซึ่งมีปริมาณเท่ากับน้ำประปาที่ใช้ในจังหวัดเชียงใหม่ในระยะเวลาสามเดือน
ภาคเหนือของประเทศไทยเก็บเกี่ยวเฉพาะช่วงหน้าแล้งเพื่อรักษาน้ำและสภาพของดินไม่ให้เป็นกรดจากการทำนามากเกินไป ซึ่งจริงๆ แล้วมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของพืชผลทางการเกษตรขึ้นอยู่กับน้ำสำรองจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ หากคำนวณจาก 28 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตข้าวนาปีแล้ว การทำการเกษตรในหน้าแล้งต้องการน้ำในปริมาณมาก ซึ่งมันคงจะดีกว่าหากเราเก็บเกี่ยวเฉพาะฤดูฝนเท่านั้น แต่มันเป็นวิถีการทำนาของที่นี่ และมันฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมของคนที่นี่ไปแล้ว
ซึ่งหมายความว่าน้ำที่สำรองไว้ในฤดูฝนไม่ได้ใช้สำหรับทำนาและบริโภคในช่วงฤดูนี้เท่านั้น แต่ต้องสำรองไว้สำหรับใช้ตลอดทั้งปี หากฝนยังตกไม่มากพอในปีนี้ น้ำที่สำรองไว้สำหรับปีหน้าจะยิ่งลดลง และเราจะพบสถานการณ์ที่ยากจะควบคุม
นอกจากนั้นประเทศไทยยังประสบกับปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง หากไม่มีน้ำจากเขื่อนที่เพียงพอและการทำนบทำฝาย พืชผลการเกษตรจะถูกน้ำท่วมอย่างรวดเร็วหลังจากที่ฝนตกหนักติดกันหลายๆ วัน ด้วยเหตุนี้ คุณอภิวัฒน์อธิบายว่า เขื่อนจะถูกปิดในช่วงปลายเดือนเมษายนเพื่อรองรับน้ำปริมาณมากในช่วงหน้าฝน หากเราไม่ใช้น้ำที่เรากักเก็บไว้ก่อนหน้ามรสุม เราจะไม่มีที่สำหรับกักเก็บน้ำในช่วงนั้น เขื่อนจะแตก เมืองและนาข้าวจะถูกน้ำท่วมหมด
ในการจัดการกับปัญหาการขาดแคลนน้ำของรัฐบาลปีนี้ รัฐบาลเตือนให้เกษตรกรงดปลูกข้าวตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้วเพื่องดการผลิตข้าวในช่วงหน้าแล้ง ชาวนาในภาคเหนือมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ปฏิบัติตามคำเตือนของรัฐบาล
อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำที่สำรองไว้ตอนนี้ใกล้เข้าขั้นวิกฤต เราก็ได้แต่หวังว่าฝนจะตกลงมาในไม่ช้านี้
เนื่องจากฝนเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เราไม่สามารถทำอะไรได้มากในแต่ละวัน
“สภาพอากาศเป็นวงจรที่ยาวนานมากกว่าหนึ่งปี ทุกๆ สี่ถึงห้าปีฝนตกมาก แต่หลังจากนั้นฝนเริ่มตกน้อยลง และปีนี้ก็ไม่ใช่ปีที่เราประสบภัยแล้งหนักที่สุดในประวัติศาสตร์” คุณอภิวัฒน์กล่าว
รัฐบาลกำลังพยายามจัดการทุกวิถีทางให้ฝนตก กรมฝนหลวงและการบินเกษตรถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของประเทศ และนี่ก็จะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เราจะนำเสนอในเดือนกันยายน
ในขณะที่คุณอ่านบทความนี้ พวกเราหวังว่าฝนคงจะตกทั่วฟ้าแล้ว ผืนดินที่กระหายน้ำคงจะชุ่มฉ่ำ น้ำเติมเต็มแม่น้ำ อ่างเก็บน้ำและพื้นที่การเกษตร แต่หากไม่เป็นอย่างนั้นพวกเราอาจจะต้องจัดงานบั้งไฟเพื่อขอฝนจากฟากฟ้าอีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้