Click Here For English
ใครๆที่ได้ขับรถผ่านแยกแม่โจ้ บนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ไม่นานมานี้ อาจสังเกตเห็นว่าไหล่ทางที่เคยเรียงรายไปด้วยต้นมะฮอกกะนีสูงใหญ่นั้น ปัจจุบันมีแต่รถแทรกเตอร์จอดระเกะระกะเต็มไปหมด สำหรับพวกเราส่วนมาก นี่เป็นเพียงสิ่งผ่านตาเราไปโดยไม่ได้รับความใส่ใจ แต่สำหรับชาวบ้านในละแวกนั้นแล้ว โครงการก่อสร้างครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บริษัทเชียงใหม่ คอนสตรัคชัน ได้เซ็นสัญญากับกรมทางหลวงเพื่อที่จะขุดอุโมงค์ขนาด 6 เลน ใต้แยกแม่โจ้ และขยายถนนซุปเปร์ไฮเวย์ เป็น 10 เลน ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
(แผนการการขยายถนน สร้างอุโมงค์ และขยายสะพานของกรมทางหลวง)
เมื่อมุ่งหน้าไปสู่แม่น้ำปิง สะพานข้ามแม่น้ำปิงขณะนี้ เป็นสะพาน 2 เลนคู่กันสองสาย จะถูกขยายเพิ่มอีกข้างละ 1 เลน และยังจะมีการสร้างสะพานอีก 2 เส้น ขนาบไปกับสะพานเดิมอีกด้วย โดยรวมแล้วเราจะมีช่องจราจร 10 เลน วิ่งข้ามแม่น้ำปิง
โครงการ 1,200 ล้านบาทที่ริเริ่มขึ้นโดยกรมทางหลวงนี้ ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากถึงการจัดประชาพิจารณ์ที่ผิวเผินและเป็นเพียงพิธี รวมถึงการอนุมัติโครงการ เพราะโครงการก่อสร้างนี้จะผ่านขั้นตอนการอนุมัติที่ถูกต้องทุกประการ ชาวบ้านในพื้นที่เพิ่งเข้าใจผลกระทบที่พวกเขาจะได้รับอย่างแท้จริงเมื่อไม่นานมานี้ ผ่านการดำเนินงานของ รศ.วสันต์ จอมภักดี อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(คุณวรวิมล ชัยรัต ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์บ้านรักษ์เมือง และเจ้าของร้านค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง)
“พวกเราจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ประชาพิจารณ์นั้นถูกจัดขึ้นอย่างที่มันไม่ควรจะเป็น” คุณวรวิมล ชัยรัต ผู้ประสานงานกลุ่ม รักษ์บ้านรักษ์เมืองและเจ้าของร้านค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกล่าว คุณวรวิมลเล่าถึงห้องประชุมที่แน่นขนัดไปด้วยผู้คน แผ่นพับที่แทบจะไม่มีข้อมูลอะไร แบบการก่อสร้างจางๆที่ถูกฉายบนจอโปรเจ็คเตอร์ และรายงานเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยศัพท์ทางวิชาการ ยากเกินกว่าที่ชาวบ้านอย่างเราจะเข้าใจ ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ไม่มีการกล่าวถึงผลกระทบในด้านลบที่ประชาชนจะได้รับหรือความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชนเลย
หลังจากการทำประชาพิจารณ์สี่ปีที่แล้ว ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับข่าวสารความคืบหน้าของโครงการอีกเลย จนกระทั่งเดือนมีนาคม 2558 เมื่อมีการเซ็นสัญญากับบริษัทรับเหมาก่อสร้าง โดยที่ชาวบ้านไม่ได้คาดคิดและการก่อสร้างเริ่มขึ้น “การทำแบบหลบๆซ่อนๆของเขาทำให้เราเกิดความสงสัย…..กรมก็ใหญ่ งบก็เยอะ มันบ่เหมาะสม ความสง่างามและความตรงไปตรงมาอยู่ไหน “ คุณวรวิมล กล่าวด้วยความผิดหวัง
การออกแบบก็มีปัญหาในตัวของมันเองเช่นกัน “ ถ้านี่เป็นข้อสอบวิศวะของผมนะ ผมให้สอบตก “ รศ.วสันต์ จอมภักดี อดีตรองคณะบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาเชียงใหม่กล่าว อย่างที่ชาวบ้านส่วนมากกล่าวมาแล้ว การขยายถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เป็นถนน 10 ช่องจราจรดูเหมือนเป็นสิ่งเกินความจำเป็นโดยเฉพาะเมื่อถนนจะคอดลงที่สี่แยกรินคำในอีกไม่กี่กิโลเมตรถัดมา และทางลอดใต้แม่โจ้ก็ดูจะไม่มีประโยชน์เท่าที่ควรอีกเช่นกัน เมื่อรถที่ต้องเลี้ยวไปทางแม่โจ้หรือรถที่มาจากแม่โจ้ก็ต้องหยุดรอสัญญานไฟอยู่ดี “คนกลุ่มเดียวที่จะได้รับผลประโยชน์คือคนที่วิ่งรถทางตรง ไม่ใช่คนที่ไปทางแม่โจ้หรือชาวบ้านละแวกนั้นเลย “ รศ. วสันต์ จอมภักดี กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ การออกแบบนี้แสดงให้เห็นว่ากรมทางหลวงไม่ได้ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตของชุมชนชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงเลย” ประชาชนที่ใช้ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์จะสามารถวิ่งรถผ่านแยกแม่โจ้โดยไม่ต้องรอสัญญานไฟหากมีอุโมงค์รอด แต่ผู้ที่ขับรถมาจากแม่โจ้หรือจะไปทางแม่โจ้ จะยังต้องรอสัญญานไฟอยู่ แสดงให้เห็นว่าอุโมงค์แห่งนี้จะไม่ได้ช่วยลดความติดขัดทางจราจรลงเลย
ปัญหาสำคัญมากอีกอย่างยังอยู่ที่การขยายสะพานจาก 4 เป็น 10 ช่องจราจรอย่างผิดสัดส่วนนี้ จะทำให้เรามีพื้นที่ถนนข้างสะพานเพียงแค่ 7 เมตร จากปัจจุบันที่ถนนข้างสะพานเป็นถนน 2 ช่องจราจรที่รถสามารถขับสวนกันได้ ทำให้ชาวบ้านย่านสันผีเสื้อ ป่าแดด ฟ้าฮ่ามและแม้กระทั่งวัดเกต สามารถสัญจรเข้าเมืองได้โดยสะดวกโดยการขับรถวนใต้สะพาน ในแบบการก่อสร้างใหม่ มีพื้นที่ข้างสะพานเพียงพอต่อถนนแค่ช่องจราจรเดียวเท่านั้น หากชาวบ้านต้องการเข้าเมืองก็จะต้องไปกลับรถที่แยกศาลเด็ก หรือที่แยกแม่โจ้ ซึ่งทั้งสองแยกก็มีการจราจรที่หนาแน่นอยู่แล้ว
(รศ.วสันต์ จอมภักดี อดีตรองคณะบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาเชียงใหม่)
“คนที่ออกแบบสะพานนี้รู้จักพื้นที่และความต้องการของประชาชนน้อยมาก เขามุ่งแต่ทำให้คนในถนนหลักสามารถขับรถได้เร็ว แต่ในความเป็นจริง ถนนรองก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน สำหรับชาวบ้านแถวนั้นโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน แบบที่เขาสรุปมานั้นจะสร้างปัญหาให้กับผู้ใช้ถนนเป็นอย่างมากและตัดขาดชุมชนออกจากกัน” รศ.วสันต์ กล่าว “เห็นได้ว่าในช่วงเช้าถนนเลียบสะพานจะเต็มไปด้วยรถ มอเตอร์ไซด์ และจักรยาน ทำไมกรมทางหลวงไม่ให้ความสำคัญกับตรงนี้บ้าง พระก็ต้องออกบิณฑบาตข้างถนน และเด็กนักเรียนก็ต้องเดินไปโรงเรียน นอกจากนี้การขยายสะพานอย่างผิดสัดส่วนจะทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีทางลงแม่น้ำ ริมแม่น้ำเป็นพื้นที่ที่สำคัญมากต่อชุมชนแถวนี้ ในวันลอยกระทงหลายๆชุมชนจะจัดขบวนแห่มาลงที่นี่ และฉลองกัน 9 วัน 9 คืนเลย”
โดยรวมแล้ว รศ.วสันต์เห็นว่า โครงสร้างใหม่นี้จะสร้างปัญหามากกว่ามอบความสะดวกให้แก่ประชาชน “ สมัยก่อนสะพานมีหน้าที่เชื่อมผู้คนและชุมชน ทำให้คนสามารถไปมาหาสู่กันได้สะดวกขึ้น วันนี้เรามีเทคโนโลยีที่จะสร้างสะพานกว้าง 10 ช่องจราจร เราสร้างมันให้รถ คนเดินไม่ได้แล้ว เราลืมหน้าที่ที่แท้จริงไปเสียแล้ว “ ผศ.วสันต์กล่าว “เป็นการออกแบบที่ไร้มิติ ไม่มีช่องจักรยาน ไม่มีพื้นที่สีเขียว (แม้แต่ต้นมะฮอกกานีที่ปลูกมากว่า 40 ปีกว่า 60 ต้นได้ถูกย้ายออกไป) ไม่มีพื้นทีสำหรับกิจกรรมของชุมชน เรายังใช้การออกแบบในรูปแบบเดิมๆอยู่ ในขณะที่ต่างประเทศเขาพยายามทำให้สะพานของเขาเป็นมิตรต่อคนและสิ่งแวดล้อม
(สภาพไหล่ทางในปัจจุบันและพระบิณฑบาตข้างถนนโดยไม่มีทางเท้า)
มันอาจจะสายไปที่จะหยุดการก่อสร้างครั้งนี้ สัญญาถูกเซ็นไปแล้วและระบบของภาครัฐก็ไม่ยืดหยุ่นพอที่จะปรับตัวกับการเปลี่ยนในขั้นนั้น แต่ รศ.วสันต์ จอมภักดี มีข้อเสนอแนะการปรับเปลี่ยนแบบก่อสร้างเพียงเล็กน้อย ที่ทำให้การขยายสะพานมีประโยชน์ต่อชุมชนโดยรอบมากขึ้น โดยที่กรมทางหลวงไม่ต้องเสียหน้าและบริษัทรับเหมาก่อสร้างก็ไม่ต้องรับงบประมาณที่น้อยลงแต่อย่างใด โดยรศ.วสันต์ เสนอให้กรมทางหลวงมอบช่องจราจร 1 ช่องในแต่ละข้างของสะพานที่สร้างใหม่ ให้เป็นทางเท้าและทางจักรยานที่มีทางขึ้นแยกจากรถยนต์ การปรับแบบสะพานเช่นนี้จะเพิ่มเนื้อที่ให้กับถนนด้านข้างสะพาน พอที่จะมีพื้นที่สำหรับช่องจราจร 2 ช่อง รวมทั้งทางเท้าและทางจักรยาน
(รูปถนนที่กรมทางหลวงสรุปออกมาผิดจากความเป็นจริง ถนนที่เลียบแม่น้ำไม่มีอยู่จริง)
“ตอนนี้กรมทางหลวงให้พื้นที่ถนนเลียบสะพานเพิ่มมาเป็น 9 เมตร แต่เราจะต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 12 เมตร 3 เมตรสำหรับทางเท้า 2 เมตรเป็นทางจักรยานและที่เหลือเป็นทางรถยนต์ “ รศ.วสันต์ ได้คำนวณและเสนอการปรับปรุงสะพานไปที่กรมทางหลวงและยังคงรอคำตอบอยู่ รศ.วสันต์ แนะนำว่ากรมทางหลวงสามารถทำสวนหย่อมและสร้างทางลงไปที่พื้นที่ติดน้ำจากสะพานส่วนที่เป็นทางเท้าได้ “ เราสามารถที่จะปิดสะพานส่วนที่เป็นทางเท้าและทางจักรยานได้ในวันหยุดเป็นถนนคนเดิน ทำให้สะพานนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน”
(การฟ้อนต้อนรับเทศกาลลอยกระทงบนพื้นที่เลียบแม่น้ำ)
คุณธานินทร์ สุภาแสน อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้เคยให้สัมภาษณ์กับ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อสองปีที่แล้วว่า ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเชียงใหม่เพื่อพัฒนาชุมชนตามกระบวนการพัฒนาชุมชนเชิงนิเวศน์(Eco Village) และมีแนวทางการพัฒนาเชียงใหม่ให้เป็นเมืองน่าอยู่ แต่โครงการก่อสร้างครั้งนี้ ดูสวนทางกับแนวทางการพัฒนาของจังหวัดอย่างมากอย่างไรก็ตาม เทศบาลนครเชียงใหม่ ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นอะไรได้เนื่องจากกรมทางหลวงขึ้นตรงกับกระทรวงคมนาคมที่กรุงเทพฯ “ การเปลี่ยนแปลงการก่อสร้างจะเกิดขึ้นได้เมื่อชาวเชียงใหม่ร่วมกันสนับสนุนเท่านั้น “ รศ.วสันต์ กล่าวกรมทางหลวงได้ชี้แจงว่า การก่อสร้างครั้งนี้ทำเพื่อคนไทยทั้งประเทศไม่ใช่เฉพาะชาวเชียงใหม่ คำตอบนี้ไม่เป็นที่พึงพอใจของชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงสถานที่ก่อสร้าง
รศ.วสันต์ กล่าวว่า แบบก่อสร้างที่กรมทางหลวงกำลังใช้เป็นแบบเดียวกันกับที่ใช้มายาวนานกว่า 50 ปี และสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องก็ไม่ทำให้ต้องแก้แบบมากมาย แต่จะให้ประโยชน์การใช้สอยเพิ่มขึ้นมหาศาล เมืองหลายเมืองทั่วโลกได้ออกแบบโครงสร้างพื้นฐานที่คำนึงถึงทั้งคนและสิ่งแวดล้อมขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาของสิงคโปร์ภายใต้แนวคิด “นครในสวน” Garden City ที่ดำเนินการมาแล้วกว่า 52 ปี มหานครนิวยอร์คที่ได้ปรับปรุงรางรถไฟยกระดับให้กลายมาเป็นสวนและที่นั่งพักผ่อนสุดเก๋แห่งใหม่ของประชาชน ในชื่อ High Line, กรุงลอนดอนกำลังจะสร้าง สะพานเดินข้ามแม่น้ำเทมส์ ที่เป็นสวนและแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศน์ไปในตัว แม้แต่เมืองหลวงของประเทศโคลอมเบีย กรุงโบโกต้า ก็ ปิดถนนยาวกว่า 113 กิโลเมตร ทุกๆวันอาทิตย์เพื่อให้ประชาชนออกมาปั่นจักรยาน วิ่ง เดิน และออกกำลังการร่วมกัน เมื่อเทียบกับโครงการยักษ์ใหญ่อย่างนี้แล้ว การเปลี่ยนช่องจราจรเพียง 2 ช่องมาเป็นทางเท้าและจักรยานดูเล็กน้อยลงไปทันตา “ กรมทางหลวงแทบไม่ต้องเปลี่ยนแปลงแบบหรืองบประมาณเลย และสะพานเส้นนี้จะกลายเป็นผลงานเด่นของเขาอีกด้วย” รศ.วสันต์กล่าว
(ประชาชนในพื้นที่ร่วมกันเสนอการปรับปรุงแบบสะพาน)
อย่าลืมว่ากรมทางหลวงยังมีแผนการก่อสร้างสำหรับเชียงใหม่อีก 3 โครงการ เราจะป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งเช่นนี้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร “ เราจะต้องคอยสอดส่องดูแลเมือเชียงให่ให้ดีกว่านี้ “ รศ.วสันต์เสนอ “ ประชาพิจารณ์ของกรมทางหลวงจะต้องมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่และนำเสนอผลกระทบอย่างรอบด้านของโครงการต่างๆ สู่ประชาชนในแบบที่ประชาชนสามารถเข้าใจได้ “ คุณวรวิมล เสริม
ที่สำคัญที่สุด กรมทางหลวงคงจะต้องปรับทัศนคติใหม่ ในปัจจุบันการสร้างถนนโดยคำนึงถึงการระบายการจราจรเพียงอย่างเดียวอาจไม่พออีกต่อไป หากต้องคำนึงถึงการทำให้โครงสร้างใหม่นี้เอื้อประโยชน์ให้กับวิถีชีวิตของชุมชนโดยรอบ วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
เพื่อแสดงการสนับสนุนกับการปรับแบบการก่อสร้างของกรมทางหลวง
ร่วมเป็นเพื่อนกับกลุ่มสะพานนิเวศน์ได้ที่นี่!