มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชูโครงการ Gastronomy Tourism ภายใต้แนวคิด “คิดถึงเชียงใหม่” มุ่งพัฒนาเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารล้านนาแบบใหม่ หรือ Chiang Mai Gastronomy Culture ฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังวิกฤติโควิด-19
โดยโครงการนี้ได้หยิบยกความอร่อยของวัตถุดิบในท้องที่ต่างๆ ขึ้นมาเป็นตัวชูโรงร่วมกับการท่องเที่ยว มีเป้าหมายในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารล้านนาแบบใหม่ หรือ Chiang Mai Gastronomy Culture ที่มาจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน มุ่งเน้นพัฒนา 3 ด้าน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ดร.ไพรัช พิบูลย์รุ่งโรจน์ รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ดูแลโปรเจคในส่วนปลายน้ำ กล่าวถึงโปรเจคนี้ว่า “Lanna Gastronomy เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อเศรษฐกิจที่ซบเซา จากการระบาดของ Covid-19 เชียงใหม่เองเป็นเมืองท่องเที่ยว รายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว ภาคเศรษฐกิจต้องการอะไรใหม่ๆ และอาหารก็เป็นหนึ่งในความหลากหลาย ที่ดึงดูดเหล่านักท่องเที่ยว เราดูแลในขั้นตอนปลายน้ำ รับช่วงต่อต่อจากคณะเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร และศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (FIN) ซึ่งเราได้ทำการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอาหารที่มีอยู่ และพัฒนากิจกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาทำร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ เป้าหมายก็คือการทำให้เชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทาง หรือที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ในเชิงของวัฒนธรรมอาหาร”
กระบวนการ ต้นน้ำ – กลางน้ำ – ปลายน้ำ
ต้นน้ำ Molecular Agriculture
ขั้นตอนนี้จะเน้นอบรมเกษตรกร และเชื่อมกับตลาด ส่งเสริมให้กับเกษตรกรพัฒนาการเกษตรและส่งเสริมวัตถุดิบ เพื่อให้เชียงใหม่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีอาหารปลอดภัย มีคุณภาพ เบื้องต้นได้ทำการพัฒนาเกษตรกรที่ผลิตวัตถุดิบ 20 ผลิตภัณฑ์ เช่น ข้าวก่ำเจ้า ในอำเภอดอยสะเก็ด ข้าวโพดหวาน ถั่วเหลือง ในอำเภอพร้าว มะเขือเทศ จากกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ ไก่ประดู่หางดำ ไข่ไก่อารมณ์ดี ปลานิล ปลากดคัง ปลากะพง ปลาเพลี้ย
กลางน้ำ Gastronomy Food Coding
ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (FIN) ทำหน้าที่ประสานงานกับสมาคมร้านอาหาร พัฒนาเมนูอาหารใหม่ขึ้นมา 20 เมนู แล้วนำ 20 เมนูมาเทรนให้กับร้านอาหารในโครงการ เป็นการยกระดับอาหารจากวัตถุดิบในท้องถิ่น โดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มมูลค่า
ปลายน้ำ Chiang Mai Food Destination
ส่งเสริมให้เชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทาง หรือที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ในเชิงของวัฒนธรรมอาหาร โดยการเปิดโอกาสให้คนในวงการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ มาพัฒนาให้ความรู้ ยกระดับมัคคุเทศก์ และ เกษตรกร ผู้ประกอบการร้านค้า และผู้ประกอบการธุรกิจบริการ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 800 คน มาร่วมกันยกระดับความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยว และให้ผู้เข้าร่วมอบรมทุกท่านได้มีส่วนร่วมใน Food Experience Tour ในเชียงใหม่ ภายใต้ธีม 7 Signatures of Lanna Gastronomy
1. The Rice Journey กิจกรรมที่เสริมสร้างประสบการณ์จากข้าว เช่น การทำอาหารจากพันธุ์ข้าวต่างๆ
2. The Forest Food Fellowship ท่องเที่ยวเชิงผจญภัย เช่น การทำอาหารในป่า และอาหาร ชาติพันธ์ที่มีความหลากหลาย
3. The Craft Cafe Wanderers เพลิดเพลินกับรสชาติและศึกษาเกี่ยวกับชา กาแฟ โก้โก้
4. Discovering Authentic Lanna Tastes เรียนรู้อาหารประจำถิ่น
5. Herb and Tuft นำสมุนไพรมาเป็นวัตถุดิบปรุงรส เพิ่มคุณค่า
6. Farmtastic การนำเสนออาหารวัตถุดิบต้นน้ำ มาเพิ่มมูลค่าของอาหารเพื่อส่งมอบอาหารบนจานให้น่าลิ้มลอง
7. Secret of Local Ingredient วัตถุดิบแปลกใหม่ที่หาได้ในท้องถิ่น
นอกจากนี้ยังร่วมกันขับเคลื่อนระหว่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ ในการจัดตั้งและรวบรวมกลุ่มผู้ที่มีความรู้และสนใจในเรื่องราวของอาหารเพื่อมาพูดคุยแลกเปลี่ยนจนนำไปสู่ความร่วมมือด้านอาหารเพื่อการพัฒนา Gastronomy ในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน รวมถึงเกิดการท่องเที่ยวเชิงอาหารในรูปแบบใหม่อีกด้วย
โดยคาดว่าเมื่อดำเนินการแล้วจะสร้างรายได้ให้แก่ เกษตรกร ผู้ประกอบการร้านค้า และผู้ประกอบการธุรกิจบริการ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีรายได้เพิ่มขึ้นราว 500 ล้านบาท ช่วยสร้างภาพลักษณ์เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารล้านนาแบบใหม่ และเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวคุณภาพในปี 2564 ได้มากกว่า 50,000 คน
Facebook: Gastronomy Tourism : LANNA Gastronomy “คิดถึงเชียงใหม่”