เมนูไข่ ความเรียบง่ายที่ยิ่งใหญ่
ในพระราชจริยวัตรของในหลวง รัชกาลที่ ๙
(เขียนโดย: พิชามญช์)
“ชื่อดี มีอารมณ์ขันดี”
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เคยรับสั่งถึงชื่อโคลงสี่ “เมนูไข่” ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีทรงพระราชนิพนธ์ไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๘ โคลงบทนี้เดิมทีพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นโดยมิได้ตั้งชื่อบท โดยทรงใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเขียนลงบนแผ่นกระดาษ ต่อมาได้มีผู้ตั้งชื่อโคลงบทนี้ทูลเกล้าฯ ถวายว่า “เมนูไข่”
นักแต่งเพลงจะแต่งเพลงขึ้นมาสักเพลงหนึ่งได้ก็ด้วยแรงบันดาลใจ…ด้วยความที่ชื่อ “เมนูไข่”เป็น “ชื่อดี มีอารมณ์ขัน” ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงพอพระราชหฤทัย และต้องพระราชประสงค์ในการถ่ายทอดเนื้อหาของเพลงนี้เพื่อใช้ในวันมงคลวันหนึ่งที่มีความหมายอย่างยิ่งต่อพระองค์ท่าน จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงจนเสร็จสมบูรณ์ เป็นเพลงในจังหวะสนุกสนานบรรยายถึง “เมนูไข่”สารพัดชนิดที่ใครฟังแล้วก็ต้องอยากกินไข่
เนื้อเพลงเมนูไข่ มีอยู่ว่า
เมนูไข่เมนูไข่ | อร่อยแท้อยากกิน |
เมนูไข่เมนูไข่ | อร่อยแท้อยากกิน |
ไข่เค็มไข่ลวกทั้ง | ไข่หวาน |
กับไข่ต้มสุกนาน | เยี่ยวม้า |
เมนูไข่เมนูไข่ | อร่อยแท้อยากกิน |
ไข่ตุ๋นรสเยี่ยมปาน | รสทิพย์ |
ไข่ไก่โอ้เอี่ยมอ้า | อร่อยแท้อยากกิน |
เมนูไข่เมนูไข่ | อร่อยแท้อยากกิน |
เมนูไข่เมนูไข่ | อร่อยแท้อยากกิน |
เมนูไข่เมนูไข่ | อร่อยแท้อยากกิน |
เมนูไข่เมนูไข่ | อร่อยแท้อยากกิน |
เมนูไข่เมนูไข่ | อร่อยแท้อยากกิน |
เพลงพระราชนิพนธ์เมนูไข่นี้ได้กลายเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 48 ที่ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 เพื่อพระราชทานเป็นของขวัญวันประสูติครบ 72 พรรษาของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ด้วยเหตุว่าสมเด็จพระเชษฐภคินีโปรดเสวยพระกระยาหารที่ทำจากไข่นั่นเอง
ด้วยเหตุผลอันแสนจะเรียบง่ายแต่ยิ่งใหญ่นี้เอง ที่เป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัยให้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ และได้โปรดเกล้าฯ ให้วง อ.ส. วันศุกร์นำออกบรรเลงและขับร้องในงานพระราชทานเลี้ยงฉลองสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ ณ ศาลาดุสิตาลัย เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 นับเป็นครั้งแรกที่คนทั่วไปได้ฟังเพลง “เมนูไข่” ได้รับรู้ถึงความผูกพันพระราชหฤทัยของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงมีต่อสมเด็จพระพี่นางฯ และได้รู้ว่า “สมเด็จพระพี่นางฯ”ทรงโปรดเสวย “ไข่”
“ไข่” จึงไม่ใช่เพียงอาหารคู่ครัวของชาวบ้านเท่านั้น แต่เป็นอาหารคู่ครัวไทยในทุกระดับชั้น ไม่เว้นแม้กระทั่งพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงโปรดอาหารง่ายๆอย่าง “ไข่” ซึ่งเป็นอาหารแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพ หาได้ง่าย และราคาถูก อีกทั้งยังมีประโยชน์มากต่อร่างกายหากบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ
จากเพลงพระราชนิพนธ์ “เมนูไข่ ที่ทำให้หลายคนอยากกินไข่ มาถึงเมนู “ไข่พระอาทิตย์”ซึ่งเป็นอาหารที่ทำจากไข่ และมีเกร็ดประวัติที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะ “ไข่พระอาทิตย์”เป็นอาหารที่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เคยทรงประกอบเป็นอาหารพระราชทานแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์
สูตรอาหารไข่พระอาทิตย์ได้รับการเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนเมื่อครั้งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นำไปตีพิมพ์ลงในหนังสือ “สูตรอาหารต้นตำหรับข้าวหอมมะลิไทยในครัวนานาชาติ” เพื่อเผยแพร่ไปทั่วโลก เพื่อประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิของไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ
หนังสือเล่มนี้ได้อัญเชิญลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ซึ่งกล่าวถึงที่มาและวิธีทำไข่พระอาทิตย์ไว้ว่า
เมื่อข้าพเจ้ายังเด็ก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยทรงประกอบอาหารพระราชทาน เรียกว่า ไข่พระอาทิตย์
วิธีทำ
1.ไข่ฟองหนึ่ง ตีให้ไข่ขาวและไข่แดงเข้ากันเหมือนเวลาจะตีไข่ทำไข่เจียว (ไม่ตีมากเหมือนทำเค้ก) ใส่ข้าวสุกประมาณทัพพีหนึ่ง
2.เครื่องปรุงรสใส่ซอสแม๊กกี้ (ที่เมืองนอกสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเยาว์ หาน้ำปลาได้ยาก แต่สมัยนี้เราชอบใส่น้ำปลามากกว่า)
3.ตั้งกระทะใส่น้ำมันเล็กน้อยไม่ใส่มากเหมือนทำไข่เจียว เทไข่ผสมข้าวลงไป จนสุก ตรงขอบกรอบๆ ตรงกลางแฉะๆ สักนิดก็ได้ ใส่จาน
มีผู้ถามว่าทำไมเรียกว่าไข่พระอาทิตย์ ข้าพเจ้าทูลถาม ทรงเล่าว่า เมื่อส่องกล้องแล้ว พื้นผิวดวงอาทิตย์มีลายเหมือนเมล็ดข้าว ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า “grain de riz””
สูตรไข่พระอาทิตย์นี้มีความแตกต่างจากไข่เจียวทั่วไปคือการใส่ “ข้าว”ลงไปในไข่ด้วย ทำให้เกิดเป็นเมนูใหม่ที่แปลกใหม่สร้างสรรค์ ทำได้ง่าย อีกทั้งยังเอร็ดอร่อยถูกปากถูกใจคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชาติทุกภาษา
อาหารที่ทำจากไข่อาจจะดูเหมือนง่ายดาย แต่ถ้าจะทำให้ดีและอร่อยก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ความง่ายดายและความเรียบง่ายนั้นจึงมีความแตกต่างกัน…จากเพลงพระราชนิพนธ์ “เมนูไข่” ถึง “ไข่พระอาทิตย์” สิ่งที่สะท้อนให้เห็นผ่านเรื่องราวของอาหารการกินเหล่านี้คือ พระราชจริยวัตรอันเรียบง่ายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงนำความเรียบง่ายมาทำให้กลายเป็นสิ่งสำคัญ และทรงนำแรงบันดาลพระราชหฤทัยมาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดทุกครั้งไป
และเพราะความเรียบง่ายนี้เองที่ทำให้พระองค์ทรงเป็น “บุคคลสำคัญ”ที่ยิ่งใหญ่ในหัวใจของคนไทยอย่างไม่มีวันลบเลือน
The Royal Eggs
The humble egg is cheap, ubiquitous, nutritious and a global staple. From paupers to kings, eggs have been enjoyed in a variety of ways. In 1995 HRH Princess Maha Chakri Sirindhorn scribbled down a funny little poem featuring some of Thailand’s most beloved egg based dishes – an ode to eggs as it were. Later, when she shared the poem with her father, His Majesty King Bhumibol Adulyadej, he added some notes and together they turned it into an eggy ditty! When HM’s oldest sister HRH Princes Galyani Vadhana celebrated her 72nd birthday in the same year, the father daughter duo, knowing that she loved dishes with eggs, performed this egg song during her birthday celebrations!
เมนูไข่เจียวพระอาทิตย์ เสิร์ฟกับพล่าปลาทับทิม
โดยเชฟฉลอง สักกะพลางกูร หัวหน้าเชฟแห่งโรงแรมดุสิตดีทู เชียงใหม่
“แรงบันดาลใจของเมนูนี้ มาจากต้นแบบของไข่พระอาทิตย์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และเรานำมาพล่าปลาทับทิบมาเพิ่มเติม ซึ่งตัวปลาทับทิบนั้นก็พัฒนามาจากพระราชดำริของพระองค์ท่าน ให้มีโครงการปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลให้มีความหลากหลาย และบริษัทซีพีก็สานต่อแนวทางพระราชดำริและนำมาเพาะพันธุ์ปลาทับทิมเพิ่มเติม
เราได้ออกแบบเมนูให้มีความเป็นไทย ตกแต่งหน้าตาไข่เจียวพระอาทิตย์ด้วยเส้นบะหมี่ทอดกรอบสีเหลืองทอง ซึ่งเป็นสีประจำพระองค์ เป็นเสมือนแสงสว่างให้แก่ประชาชนชาวไทย ส่วนตัวพล่าปลาทับทิบเราต้องการโชว์ส่วนสีขาวของเนื้อปลาออกมา ปรุงรสด้วยตะไคร้ มะกรูด และพริก”
The royal love affair with eggs doesn’t stop there and this month Chef Chalong Sakkapalangkul Director of Kitchens at dusitD2 Chiang Mai & DusitPrincess Chiang Mai shares an old Thai dish of rice omelette, but one which is faithful to a recipe created specifically by our late king Rama IX.