Read this article in English
เมื่อสตรีไทยส่งผลไม้ดองไปจัดแสดง
ในงานเวิร์ลเอ็กซ์โปที่สหรัฐอเมริกา เมื่อ 123 ปีที่แล้ว
“สมุดภาพเกี่ยวกับประเทศไทย” หน้าปกเป็นภาพปักด้วยไหมทองลวดลายดอกบัวและใบบัวอย่างวิจิตร ได้รับการค้นพบที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งนครชิคาโก สมุดภาพดังกล่าวนี้เดิมของเป็น มิสซิสพอร์ตเตอร์ พาล์มเมอร์ ประธานกรรมการผู้จัดงานสตรีของงานเวิลด์โคลัมเบียนเอ็กซ์โปซิชัน ต่อมาเมื่อมิสซิสพาล์มเมอร์เสียชีวิต ทายาทได้มอบให้แก่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งนครชิคาโกไว้เก็บรักษาเรื่อยมา
จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จเยือนนครชิคาโก สหรัฐอเมริกา พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งนครชิคาโกได้ถวายให้ทอดพระเนตร เมื่อสืบค้นข้อมูลลึกลงไปจึงพบว่า สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้พระราชทานสมุดภาพประเทศไทยนี้เป็นที่ระลึกแก่มิสซิสพาล์มเมอร์ เมื่อ ค.ศ. ๑๘๙๓ โดยหน้าปกสมุดเป็นภาพปักฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง
สมุดภาพชิ้นนี้เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของเหตุการณ์เมื่อ ๑๒๐ กว่าปีที่แล้วซึ่งบ่งบอกว่าผู้หญิงไทยในยุคนั้นมีความรู้เรื่องงานบ้านงานเรือนและงานครัวเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ดังเป็นที่ปรากฎในงานเวิร์ลโคลัมเบียนเอ็กซ์โปซิชัน เมื่อได้มีการส่งสินค้าไทยไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าระดับโลก ณ สหรัฐอเมริกา และหนึ่งในสินค้าเหล่านั้นได้แก่ มีอาหารประเภทเครื่องดอง เครื่องแช่อิ่ม ซึ่งเป็นวิธีถนอมอาหารแบบไทย รอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเลไปแสดงในงานนี้ด้วย
สตรีไทยผู้มีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกและจัดส่งสินค้าไทยไปจัดแสดงในครั้งนั้นคือ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ ๕ ทรงเป็นพระมารดาในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และทรงเป็นพระอัยยิกาเจ้า (ย่า)ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นสตรีไทยที่ทรงพระปรีชาสามารถด้านการเย็บปักถักร้อยเป็นที่เลื่องลือ ด้วยเหตุนี้เมื่อใดที่มีงานสำคัญระดับชาติเกี่ยวกับงานหัตถกรรม จึงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงเป็น “แม่งาน” อยู่เสมอ
ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ ประเทศไทยได้รับสารจากประธานาธิบดีเบนจามิน แฮร์ริสัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เชิญชวนให้ร่วมส่งสินค้าไปจัดแสดงในงาน World’s Columbian Exposition 1893 ณ นครชิคาโก ซึ่งสหรัฐอเมริกาจัดขึ้นเพื่อฉลอง ๔๐๐ ปีที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสเดินทางไปถึงอเมริกา และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่นครชิคาโกเพิ่งฟื้นตัวจากเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ โดย มิสซิสพอร์ตเตอร์ พาล์มเมอร์ ประธานกรรมการผู้จัดงานฝ่ายสตรี ได้ทำหนังสือเวียนถึงสตรีทั่วโลก 40 กว่าชาติให้นำสิ่งของสตรีมาแสดง เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ว่าสตรีในประเทศต่างๆ มีความคิดอ่านและมีความสามารถอย่างไร และนับเป็นครั้งแรกของงานแสดงสินค้านานาชาติที่มีการจัดแสดงสินค้าจากฝีมือของสตรีทั่วโลก นอกจากนี้มิสซิสพาล์มเมอร์ยังได้ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการ กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จึงได้ทรงรับเป็น “แม่งาน” โดยทรงเป็นประธานจัดประชุมกรรมการฝ่ายสตรี ให้มีการแบ่งงานกันรับผิดชอบตามความถนัดของแต่ละท่าน
ในส่วนของพระองค์เองได้ทรงรับผิดชอบด้านงานปัก งานร้อยดอกไม้แห้งและเครื่องชุนต่างๆ โดยมี ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เป็นธุระดูแลในด้านที่มีท่านความเชี่ยวชาญอาทิ เครื่องดอง เครื่องแช่อิ่ม ซึ่งเป็นวิธีการถนอมอาหารแบบไทย ซึ่งเมื่อ ๑๒๓ ปีที่แล้ว จะเห็นว่าคนไทยเรามีวิธีการถนอมอาหารโดยใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมในการ “ดอง” และ “แช่อิ่ม”ผลไม้ให้ยังคงสภาพเดิมเป็นเวลายาวนานด้วยวิธีการพาสเจอร์ไรซ์แบบธรรมชาติ จนในที่สุดสินค้าเหล่านี้ก็สามารถรอนแรมไปจนถึงสหรัฐอเมริกาได้อย่างราบรื่นแม้ว่าจะใช้เวลาในการขนส่งนานเป็นแรมเดือนก็ตาม
นอกจากนี้ ผลงานของสตรีไทยที่นำไปจัดแสดงได้แก่ สินค้าเกษตรต่างๆ จากกระทรวงเภาะปลูก เช่น ลูกกวาดเมล็ดแตงโม พริกไทย ฝ้าย ผลไม้ดอง เขาสัตว์ต่างๆ สินค้าจากระทรวงป่าไม้ เช่นไม้ลาย หวาย เครื่องจักสาน นอกนั้นยังมีผลงานศิลปะ-หัตถกรรม เช่น ของแต่งตัวประดับเพชรพลอยอย่างโบราณ ผ้ายกทอด้วยไหมเงินแลทอง ลับแลปักทองลายกุหลาบ ฯลฯ ปรากฎว่าผลงานที่ประเทศไทยส่งไปจัดแสดงนั้น ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการพิจารณาจัดประกวด ถึง ๑๐๑ รางวัล ในจำนวนนั้นมีผลงานฝีพระหัตถ์และสิ่งของส่วนพระองค์ของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ถึง ๒๒ รายการ รวมทั้งผลงานของ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระราชธิดา และสุภาพสตรีไทยท่านอื่นๆ เช่น คุณหญิงทรามสงวน อมาตยกุล ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เป็นต้น
งานเวิร์ลเอ็กซ์โปที่สหรัฐอเมริกาในครั้งนั้น ได้แสดงให้เห็นถึงพลังของสตรีไทยเมื่อ๑๒๓ ปีที่แล้ว มาถึงทุกวันนี้สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคที่สตรีไทยมีบทบาททางสังคมในทุกด้าน แต่อมตะวาจาของ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่รับสั่งถึงสตรีกับ“การบ้านการเรือน” นั้นก็ไม่เคยล้าสมัยเลย
“จงอย่าเรียนแต่หนังสือ ให้เรียนทั้งการเย็บปักถักร้อยและการบ้านเรือน ตลอดจนสุขวิทยาเพื่อครอบครัวและผู้อื่นด้วย”
———————————————————————
“มะม่วง มะขามป้อม กระท้อน และผลไม้ดองหรือผลไม้แช่อิ่มชนิดต่างๆ จะรับประทานคู่กับน้ำพริกเสมอ ซึ่งน้ำพริกของเราจะนำมากวนกับน้ำอ้อย เป็นสูตรตกทอดมาจากครอบครัวร้านส้มผลไม้ดองแห่งนี้” ป้าจันทรา สร้อยบุญ เจ้าของร้านยายน้อย-ส้มผลไม้ดอง ร้านประจำกาดหลวง (เบอร์โทร: 089 700 5789)